Lifestyle Top Stories Uncategorized

‘วิจารณ์รูปลักษณ์’ จากคำทักทายที่แฝงความห่วงใย สู่การทำลายสายใยสัมพันธ์

การทักทายผู้อื่นด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ น่าจะเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการทักทายของคนไทยซึ่งถูกปลูกฝัง และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการความไม่เข้าใจกันระหว่างคนรุ่นเก่าผู้ห่วงใย เอาใจใส่ และคนรุ่นใหม่ที่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือการล่วงล้ำขอบเขตของมารยาท

เรื่อง : จุฬาลักษณ์ เดชะ
ภาพ : นนท์ปวิธ สุวัตถิกุล, จุฬาลักษณ์ เดชะ

“ทำไมช่วงนี้ดูโทรมจัง”
“ไม่เจอกันนานอ้วนขึ้นนะ”
“ไปทำอะไรมา ทำไมสิวขึ้นเยอะ”
“ดำขึ้นจากที่เจอกันครั้งล่าสุดนะ”
“แต่งตัวเหมือนป้าเลย ทำไมไม่ใส่ชุดดีๆ แบบเพื่อนเขา”

สารพัดคำทักทายที่มีบ่อเกิดจากความห่วงใย แต่กลับทำลายความสัมพันธ์ในคราเดียวกัน 

การทักทายผู้อื่นด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ น่าจะเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการทักทายของคนไทยซึ่งถูกปลูกฝัง และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการความไม่เข้าใจกันระหว่างคนรุ่นเก่าผู้ห่วงใย เอาใจใส่ และคนรุ่นใหม่ที่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือการล่วงล้ำขอบเขตของมารยาท

จากประเด็นดังกล่าว นิสิตนักศึกษา ได้สำรวจข้อมูลจากคนไทยที่มีอายุ 18-30 ปี ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 286 คน โดยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 116 คน (40.5%) ต่างจังหวัดจำนวน 170 คน (59.4%) ส่วนมากศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (78.3%) รองลงมาคือระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า (16.4%) ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงตรงตามเพศกำเนิด จำนวน 180 คน (62.9%) ลำดับถัดมาเป็นเพศหลากหลาย จำนวน 90 คน (31.5%) และเพศชายตรงตามเพศกำเนิด จำนวน 16 คน (5.6%)

ผู้ตอบแบบสอบถาม 98.6% เคยถูกทักทายด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก

ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 282 คน (98.6%) เคยถูกทักทายโดยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกจากบุคคลอื่น โดยระบุว่า ส่วนใหญ่ได้รับการทักทายแบบนี้จากคนที่อายุมากกว่า จำนวน 267 คน (94.7%) รองลงมาเป็นคนในช่วงวัยเดียวกัน จำนวน 114 คน (40.5%) และคนที่อายุน้อยกว่า จำนวน 21 คน (7.4%)

หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟังแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 245 คน (86.9%) เผยว่า เคยได้รับการทักทายรูปแบบนี้จาก ‘เครือญาติ’ อาทิ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า หรืออา เป็นต้น รองลงมาเป็น ‘พ่อแม่’ จำนวน 159 คน (56.4%) ‘ครู/อาจารย์’ จำนวน 148 คน (52.5%) และ ‘เพื่อน’ จำนวน 138 คน (48.9%)

โดยเรื่องที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือ ‘รูปร่าง’ จำนวน 243 คน (86.2%) ถัดไปคือเรื่อง ‘สิว’ จำนวน 137 คน (48.6%) ในขณะที่ ‘หน้าตา/ส่วนประกอบบนใบหน้า’ และ ‘การแต่งกาย’ มีจำนวนเท่ากันที่จำนวน 128 คน (45.4%)

จากผลสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จำนวน 219 คน (77.7%) เห็นว่าตนได้รับการทักทายรูปแบบนี้ด้วยคำพูดปกติที่ไม่มีเจตนาอื่นนอกจากการทักทาย รองลงมาด้วยคำพูดล้อเลียนเพื่อความสนุก จำนวน 153 คน (54.3%) และคำพูดเชิงต่อว่า ตำหนิอีก 95 คน (33.7%) 

อีกทั้ง ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 199 คน (70.6%) ยังระบุว่าได้รับการทักทายรูปแบบนี้เป็นครั้งคราว และได้รับน้อยมาก จำนวน 42 คน (14.9%) ในขณะที่อีก 37 คน (13.1%) ได้รับบ่อยมาก 

“ทำให้เป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง เคยพยายามอย่างหนักเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานสังคม และเสียใจมากที่เคยทำแบบนั้น เพราะมันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกรักตัวเอง แต่เราแค่ทำให้เพื่อคนอื่นพอใจ”

“เสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่ชอบถ่ายรูป ไม่กล้าแต่งตัว คิดมากว่าเราเป็นยังไงในสายตาคนอื่นตลอดเวลา จนสุดท้ายต้องไปศัลยกรรมเพื่อให้มีความมั่นใจมากขึ้น”

“รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองมากๆ ทำให้รู้สึกอยากปกปิดส่วนของร่างกายและใบหน้าที่โดนทักตลอดไป คนจะได้ไม่หยิบมาทักอีก เช่น ต้องไว้ผมหน้าม้ามาตลอด ต้องใส่เสื้อผ้ามิดชิด รู้สึกดูดีได้ไม่เท่าคนอื่น เวลาเจอคนที่ไม่มีลักษณะเหมือนเรา ก็จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ”

ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผู้ตอบแบบสอบถาม หลังได้รับการทักทายรูปแบบนี้ โดย 214 คน (75.9%) รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รองลงมารู้สึกโกรธและโมโห จำนวน 122 (43.3%)  และอีก 95 คน (33.7%) รู้สึกเศร้าและเสียใจ

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า คนไทยยังมีแนวโน้มที่จะทักทายด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของผู้อื่น ซึ่งคนที่โดนทักเข้าใจว่าส่วนใหญ่ไม่มีเจตนาอื่นนอกจากการทักทาย และมักมาจากคนที่อายุมากกว่า เช่น เครือญาติ พ่อแม่ ครูหรืออาจารย์ อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 70% ได้รับการทักทายรูปแบบนี้เป็นครั้งคราว โดยเรื่อง ‘รูปร่าง’ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาใช้มากที่สุด นำไปสู่ผลกระทบเชิงลบที่ทำให้ผู้ที่ได้รับคำทักทายรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง

ใบเฟิร์น – อัญชสา มงคลสมัย นักแสดงอิสระและยูทูบเบอร์ 

“ประสบการณ์ฝังใจเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เฟิร์นพยายามสู้กับใจตัวเอง เพื่อลงรูปชุดว่ายน้ำทางโซเชียลมีเดีย แต่คนรู้จักในชีวิตจริงสั่งให้ลบรูปและคลิปทิ้ง โดยให้เหตุผลว่ามันไม่สวย ซึ่งตอนนั้นเราอ่อนแอมาก เราก็เสียใจ ร้องไห้ และลบรูปทิ้ง กลายเป็นว่าเราเกลียดตัวเองไปพักใหญ่ เพราะคิดว่าทำไมตัวเองไม่สวยเหมือนคนอื่น” – ใบเฟิร์น อัญชสา

ใบเฟิร์น – อัญชสา มงคลสมัย นักแสดงอิสระและยูทูบเบอร์ เล่าถึงประสบการณ์โดนทักทายรูปร่างแบบนี้ไว้ว่า ตนเคยได้รับการทักทายเช่นนี้จากครอบครัว คนรอบตัว และในแวดวงการทำงาน ส่วนมากพบจากผู้ใหญ่ ซึ่งตนมองว่าเขาคงหวังดี และไม่อยากให้ตนโดนคนอื่นพูดถึงในทางที่ไม่ดี เขาจึงเตือนเรื่องเหล่านี้ ผู้ใหญ่ที่ทำงานร่วมกันไม่อยากให้งานออกไปแล้วเราดูไม่สวย ส่วนครอบครัวทักว่าให้ลดความอ้วนเพราะกังวลว่าจะกระทบการทำงานของเราหรืออาจโดนวิจารณ์บนโลกโซเชียลได้ โดยใบเฟิร์นเข้าใจในความเป็นห่วงที่ไม่อยากให้ตนรู้สึกเสียใจ จึงได้กล่าวคำพูดเหล่านั้น

ภายหลังใบเฟิร์นเปิดใจกับครอบครัวว่า การทักทายด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร โดยบอกว่ารู้สึกเสียใจจากการที่คนอื่นมาทักรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว จึงไม่อยากให้ครอบครัวที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยมาทักแบบนี้อีก แม้ครอบครัวจะหวังดี แต่อยากได้รับกำลังใจมากกว่า เพราะทุกวันก็เหนื่อยจากการทำงาน ไม่มีเวลาพักผ่อน และไม่มีเวลาออกกำลังกายหรือดูแลตัวเอง โดยใบเฟิร์นระบุว่า “มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย”

“จริงๆ ก็เป็นปมมาโดยตลอด รู้สึกเกลียดตัวเอง ทำไมเราถึงไม่ได้เกิดมาแขนขายาว มีเอว มีสะโพกเหมือนคนอื่น เกลียดตัวเองถึงขั้นที่มองกระจกไม่ได้ รู้สึกไม่ชอบตัวเองเลย จนสุดท้ายต้องพบจิตแพทย์ เราก็พยายามทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราต้องยอมรับให้ได้ว่าร่างกายของคนเราไม่มีทางเหมือนเดิมตลอด ทั้งความอ้วนและความผอมไม่ใช่สิ่งถาวร”

– ใบเฟิร์น อัญชสา
ใบเฟิร์น – อัญชสา มงคลสมัย นักแสดงอิสระและยูทูบเบอร์ 

ทำไมคนไทยจึงทักทายด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์

สำหรับใบเฟิร์น การทักทายรูปแบบนี้เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อหรือทัศนคติของคนรุ่นเก่า ซึ่งเป็นการทักทายที่ส่งต่อกันมาโดยผู้พูดไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะทักอะไรก็เลยใช้ความหวังดี อีกทั้งรูปลักษณ์ภายนอกเป็นสิ่งที่ทักได้เร็วที่สุด มองปุ๊บก็ทักได้ในทันที ขณะเดียวกัน การทักทายแบบนี้ก็ไม่ใช่แง่ลบเสมอไป บางคนก็ทักว่า สวยขึ้นหรือเปล่า 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภัสสรา ชัยวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภัสสรา ชัยวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงที่มาของวัฒนธรรมการทักทายของคนไทยในรูปแบบดังกล่าวว่า นอกเหนือไปจากความห่วงใย และความใส่ใจที่คนไทยมีให้แก่สมาชิกร่วมสังคมแล้ว รูปร่างหน้าตายังเป็นสิ่งแรกที่เราพยายามจะนำมาสร้างบทสนทนาหรือการพูดคุย

อีกทั้งยังเป็นธรรมชาติของคนเอเชียซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมที่ ‘ความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ’ เนื่องจากคนเอเชียให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกัน เอาใจใส่ และผูกไมตรี การทักทายโดยวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก จึงสะท้อนถึงความห่วงใยที่อยากให้อีกฝ่ายดูดี ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญต่อกัน ดังนั้นความสนใจในตัวคู่สนทนาจึงมีความโดดเด่น เมื่อเทียบกับชาวตะวันตก ซึ่งอาจถามไถ่เรื่องหน้าที่การงานของอีกฝ่าย หรือความสำเร็จบางอย่างที่ทำร่วมกันมากกว่า

ประโยชน์ของคำทักทายคือการเริ่มบทสนทนา คนต่างประเทศก็จะถามว่า How are you? (คุณเป็นอย่างไรบ้าง) ซึ่งเป็นเพียงคำทักทายพื้นฐาน (protocol) ที่ไม่ได้คาดหวังคำตอบ และผู้ตอบจะตอบกลับว่า I’m fine (ฉันสบายดี) ตามชุดคำตอบพื้นฐาน แม้ว่าเขาอาจไม่ได้รู้สึกตามที่ตอบ วิธีคิดในการทักทายของคนเอเชียก็เหมือนกับวิธีคิดของชาวตะวันตก นั่นคือการทักเป็นพิธี แต่ไม่ได้คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะตอบคำถามหรือไม่ แต่ปรากฎว่า ความหมายของผู้รับสารซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่กลับมองว่า “ถามทำไม” หรือถูกตีความไปว่า คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะถามแบบนี้ เพราะฉะนั้น ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจึงมีผลต่อการตีความคำทักทาย

การทักทายแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม เนื่องจากถูกปฏิบัติซ้ำและตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น หากย้อนดูเจตนาของผู้พูด ปภัสสรามองว่าการทักเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกเปรียบเสมือนการเอาใจใส่สุขภาวะ หรือการอยู่ดีกินดีของอีกฝ่าย ผู้พูดอาจมีเจตนาเพียงอยากให้คนที่ตนสนทนาด้วยนั้นอยู่ดีมีสุข แต่แม้ว่าคนที่ทักทายเช่นนี้จะมีเจตนาดี หรือเป็นห่วงเป็นใย การทักทายเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นเรื่องที่อ่อนไหว โดยเฉพาะในช่วงอายุวัยรุ่น 

Beauty Standard กับวัฒนธรรมการทักทายรูปลักษณ์?

“Beauty Standard ส่งผลให้ผู้คนทักทายกันด้วยรูปร่างภายนอกอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่มี Beauty Standard ในแบบของเขา แบบไหนคืออ้วน แบบไหนคือผอม เพราะฉะนั้น ถ้ามันไม่ตรงตามสิ่งที่เขาคิด เขาก็จะทักว่า อ้วนขึ้นหรือเปล่า ผอมลงหรือเปล่า”

– ใบเฟิร์น อัญชสา

ใบเฟิร์น เสริมว่า วัตนธรรมการทักทายรูปแบบนี้เกี่ยวข้องกับ Beauty Standard หรือมาตรฐานความงามอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันยังมีคนที่ทักทายด้วยรูปลักษณ์ แม้ผู้คนจะตื่นรู้มากขึ้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ อย่างไรก็ตาม ต่อให้ผู้พูดจะให้ความสำคัญกับ Beauty Standard แต่ถ้ามีมารยาทพอที่จะไม่ทักคนที่ไม่ตรงกับมาตรฐานที่เราคิดไว้ การทักทายแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยเป็นมิตร และไม่ได้คิดอะไรมาก บางครั้งจึงไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม

ปภัสสรา ชี้ว่าความคาดหวังในการปรากฏตัวของผู้อื่นตาม Beauty Standard หรือ มาตรฐานความงามนั้นมีผล เนื่องด้วยอิทธิพลของสื่อมวลชนที่สะท้อนภาพคนสุขภาพดี ว่าควรมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อคนรอบตัวมีคุณลักษณะที่ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่สื่อนำเสนอ จึงนำมาสู่การทักทายรูปแบบนี้ภายใต้ความห่วงใย เช่น ทำไมแต่งตัวแบบนั้น หรือทำไมหน้าตาเป็นแบบนั้น

วัฒนธรรมการทักทายรูปแบบนี้ ส่วนหนึ่งจึงถูกประกอบสร้างจากมิติสื่อมวลชน อันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมบริโภคนิยม เช่น หน้าตาของพรีเซ็นเตอร์ส่งผลต่อการซื้อสินค้า ส่งผลให้ภาพของคนที่ตรงตามมาตรฐานความงามนั้นถูกผลิตซ้ำ เว้นแต่ว่าจะมีใครพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยนำคนที่มีลักษณะแตกต่างจากพิมพ์นิยมมาประชาสัมพันธ์ เพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มบางอย่าง แต่สุดท้าย ในปัจจุบัน ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกพรีเซนเตอร์ก็ยังคงเลือกคนที่ดูดีตามมาตรฐานความงาม หรืออาจจะมีการนำเสนอรูปลักษณ์ที่หลากหลายเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ในทางหนึ่ง แต่ยังไม่ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นวิธีคิดของคนไทยโดยทั่วไป

4 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทักทายรูปแบบนี้

ปภัสสรา สรุปปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้พูดทักทายด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกไว้ 4 ปัจจัย ได้แก่ ช่วงวัย (Generation) ระดับความสนิท เพศ และการขัดเกลาทางสังคม โดยปัจจัยแรกอย่าง ช่วงวัย กล่าวคือ วัฒนธรรมการทักทายเป็นโปรแกรมทางความคิดที่ส่งต่อมา คนในยุคหนึ่งมองว่าเป็นการทักทายที่ดี เพราะเจตนาในการทักทายแบบนี้ คืออยากรู้ว่าอีกฝ่ายสบายดีไหมในมุมที่สะท้อนผ่านรูปลักษณ์ภายนอก โดยวิธีคิดของคนสมัยก่อนอาจไม่มีข้อติ เพราะเป็นความเคยชินที่มองว่า คนไทยทักทายกันแบบนี้ รวมถึงในยุคก่อน ระบบอาวุโสนิยมยังเข้มข้น เมื่อผู้ใหญ่ทักเรื่องรูปลักษณ์ แม้ผู้น้อยจะรู้สึกไม่ดีกับคำทักทายเช่นนั้น แต่ก็มองว่าไม่จำเป็นต้องตอบโต้ผู้ใหญ่ 

ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังคงมีกรอบความคิดว่า ไม่ได้ตั้งใจทักให้เสียความมั่นใจ แต่ต้องการถามว่าอยู่ดีมีสุขหรือไม่ แต่ในปัจจุบัน คนต่างรุ่นอายุให้ความหมายไม่เหมือนกันแล้ว โดยคนรุ่นใหม่กล้าพูดว่ารู้สึกไม่โอเค เพราะการทักทายเช่นนี้ทำให้ผู้ฟังไม่ชอบรูปลักษณ์ภายนอกของตนเอง เนื่องจากวิธีคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวของคนรุ่นใหม่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ เพียงแต่อาจยังคงไม่ถูกซึมซับในวัฒนธรรมไทย มากไปกว่านั้น วิธีคิดเรื่องอาวุโสนิยมของคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยมองว่าผู้น้อยไม่จำเป็นต้องเกรงอกเกรงใจผู้ใหญ่ เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน จึงเกิดการตั้งคำถามต่อวิธีการทักทายรูปแบบนี้ และกลายเป็นการต่อรองความหมายของคำทักทาย

อีกหนึ่งปัจจัยในการตีความคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง หากเป็นคนไกลตัวที่ไม่สนิทมาทักทายเช่นนี้ ผู้ฟังอาจรู้สึกไม่ดี เพราะมองว่า ผู้พูดไม่มีสิทธิ์มาพูดอะไรแบบนี้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้พูดเป็นคนสนิท ผู้ฟังจะตีความอีกแบบหนึ่งทันที เพราะฉะนั้น ขอบเขตของความสุภาพในการทักทายจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการสื่อสารระหว่างบุคคล

ด้านปัจจัยเรื่องเพศ ปภัสสรา เห็นว่าเป็นไปได้ที่ผู้ชายจะทักทายด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกน้อยกว่าผู้หญิง เพราะเรื่องรูปร่างหน้าตาไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงอ่อนไหวในเรื่องพวกนี้มากกว่า เพราะความงามมีผลต่อความรู้สึกดีกับตัวเอง (self esteem) จึงกลายเป็นกรอบความคิดที่ใช้มองรูปลักษณ์ภายนอกของผู้อื่น บนพื้นฐานความงามที่เราอยากเป็น แม้เขาอาจจะไม่ได้ชอบแบบเดียวกันกับเรา 

ปัจจัยสุดท้ายคือการขัดเกลาทางสังคม ซึ่งผู้คนจะซึมซับทัศนคติหรือพฤติกรรมจากต้นแบบในชีวิต หากเราเติบโตมาในครอบครัวแบบใด กลุ่มเพื่อนแบบใด หรือสังคมแบบใด เราก็มีโอกาสที่จะสร้างบทสนทนา หรือสื่อสารคล้ายคลึงกับสภาพสังคมแบบนั้น เพราะไม่มีต้นแบบคำทักทายอื่นๆ สำหรับนำมาใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน บางครั้งคนเราไม่ได้ระมัดระวังเรื่องคำพูด เพราะอ้างอิงการทักทายจากต้นแบบในชีวิต เช่น ครอบครัว เพื่อน คุณครู ละคร หรือสังคมที่เขาเคยอยู่

ปลูกฝังวิธีคิดตั้งแต่ระดับครอบครัว

ปภัสสรา ระบุว่าสถาบันทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวควรผลักดันค่านิยม ‘ไม่ทักทายผู้อื่นด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก’ เพราะถือเป็นค่านิยมสำคัญที่ต้องปลูกฝังเด็กๆ ที่เติบโตในครอบครัว โดยพ่อแม่ต้องให้พื้นที่ลูกแสดงความคิดเห็นว่า ‘การเคารพสำหรับเขาคืออะไร’ ถ้าพ่อแม่ทำเช่นนี้กับลูกตั้งแต่เด็ก เขาก็มีโอกาสทำสิ่งนี้กับคนอื่น เพราะคนไม่มีก็ให้ไม่ได้ ถ้าเขาไม่เคยเห็นมาก่อน เขาก็ทำไม่เป็น

ในขณะเดียวกัน ครูหรือผู้บริหารในสถาบันการศึกษาก็ต้องสอดส่องว่า มีเด็กคนใดถูกปฏิบัติอย่างไม่เคารพหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่มีความไม่สมบูรณ์ทางร่างกาย สีผิวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความงาม หรือชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ต้องสร้างในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย คุณสมบัติในร่างกายของแต่ละคนเป็นจุดเปราะบางไม่เท่ากัน บางคนอ่อนไหวเรื่องสีผิว บางคนอ่อนไหวเรื่องลักษณะผม คนอื่นในโรงเรียนก็ไม่ควรทักทายเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา และเขาไม่ได้ผิดอะไร เพียงแค่แตกต่างจากคนอื่น รูปลักษณ์บางประการของเขาจึงโดดเด่นขึ้นมา เพราะฉะนั้น สถาบันการศึกษาต้องมีพื้นที่ให้แก่ผู้ที่มีลักษณะพิเศษ และทำให้เขาไม่รู้สึกแตกต่างจากคนอื่น

นอกจากนั้น สื่อมวลชนต้องยึดถือการเคารพบุคคลในสื่อ โดยไม่หยิบยกเรื่องรูปลักษณ์มาเป็นประเด็นในการนำเสนอ แม้ว่าบุคคลสาธารณะจะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิม แต่การทักรูปลักษณ์พวกเขาไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน หรืออาจกล่าวได้ว่า สื่อมวลชนไม่ควรทำให้เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารชนถูกขยายขึ้นมาเพื่อทำลายคนคนหนึ่ง

Mindful Communication คิดก่อนพูด

ปภัสสรา เสนอว่าถ้าไม่รู้จะทักทายผู้อื่นอย่างไร อาจเริ่มจากคำทักทายพื้นฐาน (protocol) เช่น เป็นไงบ้าง สบายดีไหม กินข้าวหรือยัง ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นนอกจากความห่วงใย แม้สุดท้ายคนเรายังมองกันที่รูปลักษณ์ภายนอกเพราะเป็นสิ่งแรกที่มองเห็น แต่สิ่งที่ต้องฝึกคือ Mindful Communication หรือการคิดก่อนพูดออกไป เพราะคำทักทายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเคารพผู้อื่นที่จะไม่ทำให้คู่สนทนาสูญเสียความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง

โดยต้องวิเคราะห์ผู้รับสารว่าเขาเป็นใคร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเรา ถ้าเราพูดแบบนี้แล้วเขาจะรู้สึกอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หรือทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นไหม ถ้าไตร่ตรองแล้วว่าจะไม่มีผลกระทบเชิงลบ เช่น หากเขาตั้งใจแต่งหน้าแต่งตัวมาก็สามารถชมรูปลักษณ์ของเขาได้ เพราะอาจช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้ฟัง และนำมาสู่ความสัมพันธ์เชิงบวก อย่างไรก็ตาม คนสวยบางคนอาจไม่ชอบให้คนอื่นมาชมว่าสวยก็ได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาแต่ละกรณี หรือทักทายด้วยคำทักทายพื้นฐาน (protocol) ก็จะปลอดภัยที่สุด

“กาลครั้งหนึ่ง คำทักทายด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่นเคยหมายถึงอยากให้อยู่ดีกินดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป การทักทายเช่นนี้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้ฟัง ดังนั้น มันถึงเวลาแล้วแหละที่จะเปลี่ยนคำทักทาย เพื่อทำให้เกิดผลที่ดีกับคนที่เราสนทนาด้วย”

– ดร.ปภัสสรา ชัยวงศ์

อ้างอิง

  1. ปภัสสรา ชัยวงศ์. ผู้ช่วยศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สัมภาษณ์, 9 ตุลาคม 2566.
  2. อัญชสา มงคลสมัย. นักแสดงอิสระและยูทูบเบอร์. สัมภาษณ์, 25 ตุลาคม 2566.