Art & Culture Community Lifestyle

วัดไทยในต่างแดน ศูนย์รวมใจคนไกลบ้าน

เรื่อง กัปปิยนารถ วรรณสิริวิไล
ภาพปก วัดพุทธาราม

เวลาที่เครียด เศร้า เหงา ซึม ในที่ที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน เราคงจะติดต่อเพื่อน ออกไปกินอาหารไทย หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยที่การไป “วัด” อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรก ๆ ของใครหลายคน วันนี้ นิสิตนักศึกษา จึงจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ “วัดไทยในยุโรป” สถานที่พักใจของคนไทยในต่างแดน ที่มีฟังก์ชั่นบำบัดใจอย่างครบถ้วน ทั้งอาหาร เพื่อน กิจกรรม และธรรมะ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทวีปที่ได้ชื่อว่าเจริญ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในหมุดหมายปลายทางของหลาย ๆ ท่าน

วัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน
ที่มา: วัดพุทธาราม

ความเป็นมาของวัดไทยในต่างแดน

จากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม, สหภาพพระธรรมทูตไทย และมูลนิธิธรรมกาย  พบว่าในทวีปยุโรปมีวัดไทยมากกว่า 100 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั้งในประเทศที่มีคนไทยหนาแน่น อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน หรือประเทศไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่าง สาธารณรัฐมอลตา และไอซ์แลนด์ ก็ต่างมีวัดไทยทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาเถรสมาคมและรัฐบาลไทย วัดที่จัดตั้งตามจิตศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และวัดสาขาของวัดพระธรรมกาย  ลักษณะของวัดก็มีตั้งแต่บ้านเช่าทั่วไป ตั้งพระประธานไว้ในห้องรับแขก ไปจนถึงวัดขนาดใหญ่ มีอุโบสถ ช่อฟ้า ใบระกา จิตรกรรมฝาผนัง งดงามตามสไตล์วัดบ้านเรา ขึ้นอยู่กับสถานที่และกฎหมายท้องถิ่น

ทำบุญ วัดป่าเทรวิโซ่
ที่มา: วัดพุทธเวนิส

ธีรยุทธ ศวิตชาต สถาปนิกชาวไทยที่ทำงานในอิตาลีมากว่า 30 ปี และเป็นอาสาสมัคร ช่วยงานวัดไทยในมิลานและเวนิสอย่างสม่ำเสมอ เล่าว่า เมื่อตนมาอยู่อิตาลีใหม่ ๆ มีวัดป่าที่โรมแห่งเดียวเท่านั้น แต่เมื่อ 15-20 ปี ที่ผ่านมา เริ่มมีวัดไทยมาตั้งตามเมืองใหญ่ โดยวัดหรือองค์กรไทยที่เกี่ยวข้องมาจัดตั้ง พร้อมส่งพระสงฆ์มาจำวัด ลูกศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาในยุโรปก็มาช่วยกันดำเนินกิจกรรมให้เป็นรูปเป็นร่าง 

“วัดเองก็อยากมาเผยแผ่ศาสนา คนไทยเองก็อยากไปวัด” ธีรยุทธกล่าว

แม้จะมีครบทั้งอุปสงค์และอุปทานในการจัดตั้งวัด แต่ก็ใช่ว่าจะดำเนินการได้โดยง่าย อภิชาติ โกยทรัพย์ ผู้จัดการร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในเมืองสำคัญของ สเปน อย่าง บาร์เซโลนาผู้นิยมการไปร่วมกิจกรรมของวัดไทยต่าง ๆ ในทวีปยุโรป กล่าวกับ นิสิตนักศึกษา ว่ามีวัดไทยในยุโรปจำนวนไม่น้อย จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในรูปแบบของสมาคมหรือชมรมปฏิบัติธรรม เพราะจัดตั้งได้ง่ายกว่าทำเรื่องมากับรัฐบาลไทย แต่มักดำเนินการอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากปัญหาด้านกฎหมายและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก 

บางวัดแม้มีแรงศรัทธาจากญาติโยมมาก แต่ก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายโดยการย้ายที่ตั้งของวัดไปเรื่อย ๆ เพื่อหาที่ที่เหมาะสมและค่าเช่าไม่สูงมากนัก อย่างเช่นวัดไทยออสเตรียธรรมาราม ประเทศออสเตรีย ที่ย้ายที่ตั้งมากกว่าสี่รอบในระยะเวลาสิบปี แต่ไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหน พุทธศาสนิกชนชาวไทยก็ยังแวะเวียนไปเสมอ เพราะวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยในต่างแดน

มาทำอะไรที่วัด

พุทธศาสนิกชนทั้งไทยและเทศสามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมตามความสะดวก นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ สนทนาธรรม ทำบุญ ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่าง ๆ  เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ทานอาหารไทย ชมการแสดงไทย อย่างรำไทย มวยไทย เป็นต้น บางวัด อาทิ วัดไทยออสเตรียธรรมาราม มีโครงการสอนภาษาไทยให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยส่วนมากมักเป็นลูกหลานของคนไทยที่เกิดและโตในต่างประเทศจึงไม่สันทัดภาษาไทยมากนัก

งานสงกรานต์ วัดศรีนครินทรวราราม ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ที่มา: ไทยรัฐ

“พี่มีโอกาสไปวัดแค่วันหยุดของร้าน เราอยากไปทำบุญ อยู่ต่างประเทศไม่ค่อยได้ทำบุญ เวลามีงานทอดกฐิน งานอาสาฬหบูชาปีละครั้ง ก็ขับรถไปกลับฝรั่งเศสเจ็ดชั่วโมง ไปแล้วก็ไม่รู้ว่าชีวิตจะดีขึ้นไหม จะถูกหวยไหม แต่เราก็ทำเพราะเราศรัทธา ทำแล้วสบายใจ” อภิชาติเล่า

ทางด้านศาสนกิจก็มีมากมายคล้ายวัดในประเทศไทย มีทั้งการบรรพชาสามเณร อุปสมบทพระภิกษุ การปิดทองฝังลูกนิมิตร การทอดกฐินอย่างยิ่งใหญ่ ในวันสำคัญทางศาสนาก็จะมีการตักบาตร ทำบุญ สวดมนต์ เวียนเทียน โดยญาติโยม รวมถึงชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาพุทธ หรือสนใจในวัฒนธรรมไทย ก็มาถือศีล กินมังสวิรัติ ปฏิบัติธรรม รวมตัวกันอย่างคึกคักและอบอุ่น ขณะที่ นิสิตนักศึกษา ศึกษาอยู่ที่อิตาลี ก็มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมบูชาข้าวพระที่วัดพุทธเวนิส ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ของวัดพระธรรมกาย ได้ฝากท้องกับอาหารไทยที่ป้า ๆ น้า ๆ นำมาทำบุญทุกเดือน แทบไม่มีโอกาสคิดถึงอาหารไทยเลยทีเดียว

ปูเสื่อ ทานอาหารไทย
ที่มา: วัดพุทธเวนิส

ในส่วนของการจัดงานฌาปนกิจศพนั้น ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการดำเนินการหลังเสียชีวิตของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน ชาวไทยมักจัดงานศพ นิมนต์พระมาสวดอภิธรรม 1-7 วัน แล้วจึงทำพิธีฌาปนกิจ (เผา) ส่วนประชากรยุโรปส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ มักฝังร่างในสุสาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ที่ดินมีจำกัด และมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา การเผา และเก็บอัฐิในภาชนะจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับการจัดพิธีศพของไทย ธีรยุทธเล่าว่าที่อิตาลี เมื่อเสียชีวิต ร่างจะถูกนำไปไว้ที่สถานที่จัดพิธีและเผาศพของเมือง ซึ่งหากผู้เสียชีวิตเป็นคนไทยหรือคนพุทธ ญาติก็จะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดไทยไปสวดอภิธรรมก่อนเผาที่นั่น

“เราทำได้แค่นั้น สวดสามวัน เจ็ดวันไม่ได้ เราเก็บร่างไว้ที่วัดไม่ได้ ไม่มีการฉีดสารคงสภาพและวัดก็ไม่พร้อมด้วย” ธีรยุทธกล่าว ทั้งนี้ก็มีบางครอบครัวที่ส่งร่างกลับไปประกอบพิธีที่ไทย แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงมากเช่นกัน

คณะสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ณ วัดไทยไลพ์ซิก ประเทศเยอรมนี ในงานทอดกฐินสามัคคีและงานลอยกระทง
ที่มา: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

ครั้นประสบปัญหาชีวิตทางโลก ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เช่น ปัญหาด้านเอกสารวีซ่า ปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านกฎหมาย ที่อยู่อาศัย การเงิน หรือการประกอบอาชีพ คนไทยในต่างประเทศก็สามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือที่วัดได้เสมอ เพราะวัดเป็นแหล่งรวมตัวของคนไทยจำนวนมาก จึงมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้คำปรึกษาช่วยเหลือกันอยู่เป็นนิตย์ 

“ตอนมาอยู่ใหม่ ๆ ยังหางานทำไม่ได้ ก็ได้คนที่วัดช่วยหา ช่วยแนะนำให้ ใครมีเรื่องอะไรมา เราก็ช่วย ๆ กัน ถ้าช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ถามคนนั้นคนนี้จนหาทางได้” หลิน (นามสมมติ) หญิงไทยวัย 37 ปี ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของเธอที่วัดพุทธสามัคคี ดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ปีนี้เป็นปีที่ 12 ที่เธออาศัยอยู่กับสามี ณ ประเทศเยอรมนี

วัดไทยจึงไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธธรรมเท่านั้น หากยังเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ตอบสนองปัญหา ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยต่างแดนอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมความช่วยเหลือทั้งด้านสังคมและจิตใจ ตรงนี้น่าจะมีกรณีตัวอย่างเพิ่มอีกหน่อย ช่วยเหลือเรื่องอะไร อย่างไร ฯลฯ

พุทธศาสนิกชนชาวไทยในอิตาลีร่วมทำอาหารแจก สร้างโรงทาน ในวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ
ที่มา: วัดพุทธเวนิส

พระธรรมทูต 

เมื่อมีวัดก็ต้องมีพระ พระภิกษุไทยจำนวนไม่น้อยได้รับการนิมนต์มาจำพรรษา ณ วัดไทยทั่วยุโรป ทั้งที่ญาติโยมนิมนต์มา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยพระภิกษุที่มหาเถรสมาคมส่งมาจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเป็นพระธรรมทูต ทั้งข้อสอบธรรมะและข้อสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ วัดขนาดใหญ่ก็จะมีพระภิกษุหลายรูป แต่บางวัดก็มีเพียงรูปเดียว ถึงกระนั้นก็ต้องทำหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

พระมหาอิทธิ​พงศ์​ ปัญญาวังโส เจ้าอาวาส​ วัดพระธรรมกายอิตาลี​ จำพรรษาอยู่ที่อิตาลีมากว่าสี่ปี และที่ฮ่องกง ก่อนหน้านี้ถึง 13 ปี ท่านเล่าว่ากิจวัตรประจำวันเหมือนพระภิกษุที่ไทย ตื่นนอน นั่งสมาธิ สวดมนต์ทำวัตรเช้า ฉันข้าวเช้า ต้อนรับญาติโยมที่มาทำบุญ ต่อด้วยทำเอกสารต่าง ๆ ฉันเพล แล้วจึงเปิดประชุมออนไลน์เพื่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ สนทนาธรรมกับญาติโยมทางออนไลน์ ดูแลสถานที่ พัฒนาวัด เช่น ตัดหญ้า ตัดกิ่งไม้ ทำความสะอาดวัด ช่วงเย็นก็ฉันน้ำปะนะ เปิดประชุมออนไลน์ทำวัตรเย็นอีกครั้ง จากนั้นจึงแยกย้ายไปพักผ่อน

อุบาสิกาถวายภัตตาหารเช้า ณ วัดพุทธเวนิส
ประชุมออนไลน์เพื่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ สนทนาธรรมทางไกล

ด้านศาสนกิจของพระสงฆ์ก็สามารถทำได้ปกติ เว้นแต่บางกิจวัตรที่ต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและข้อจำกัดของสังคมนั้น ๆ เช่น การออกบิณฑบาต พระสงฆ์ไม่สามารถออกไปเดินได้อย่างเสรีเหมือนที่บ้านเรา จึงมีการปรับเป็นการที่พุทธศาสนิกชนนำภัตตาหารมาถวายให้ทั้งในช่วงเช้าและช่วงเพล แต่บางวัดอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น วัดพุทธวิหาร เอชาลองส์ ประเทศสวิตเซอแลนด์ นาน ๆ ทีญาติโยมจะมาวัด จึงต้องมีการจัดเก็บอาหารและพระสงฆ์ประกอบอาหารด้วยตนเอง

“ญาติโยมที่อยู่ในเมือง ไม่สะดวกมาวัดแต่อยากทำบุญ ก็จะนิมนต์พระอาจารย์ไปรับภัตตาหาร ก็คือบิณฑบาต แต่แทนที่จะเดินไปก็นั่งรถไป แล้วก็กลับมาฉันที่วัด” พระมหาอิทธิ​พงศ์​กล่าว

พุทธศาสนิกชนไทยในอิตาลี นิมนต์พระไปตักบาตรที่บ้าน
ที่มา: วัดพุทธเวนิส

มหาเถรสมาคมมีมติห้ามพระภิกษุขับยานพาหนะทุกชนิด เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นฉุกเฉิน แต่พระสงฆ์ไทยในต่างประเทศ หากต้องเดินทางด้วยรถยนตร์แล้วไม่มีอุบาสก-อุบาสิกามาอาสาขับรถพาไปไหนมาไหนก็อนุโลมให้พระสงฆ์ขับรถได้  พระมหาอิทธิ​พงศ์​เล่าเสริมว่าท่านมักเดินทางด้วยรถไฟและรถบัสจนเชี่ยวชาญ

การครองจีวร หากอากาศหนาวก็สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันความหนาวได้ปกติ สีสุภาพ สีส้มจีวร หรือสีส้มนีออนก็มี แล้วแต่จะจัดสรรได้ 

“พระผู้ใหญ่ที่ไทยไม่เข้าใจ ทำไมพระยุโรปใส่เสื้อ ใส่กางเกง ท่านไม่เคยมาต่างประเทศ คิดว่าหนาวก็ดีสิ อากาศสบายดี แต่หนาวไทยกับหนาวต่างประเทศไม่เหมือนกัน เลยต้องนิมนต์ท่านมาเยี่ยมวัดที่นี่ มาช่วงหน้าหนาวเลย” พระมหาอิทธิ​พงศ์​เล่า

พระภิกษุชาวไทย สวมเครื่องแต่งกายป้องกันอากาศหนาว
ที่มา: The Buddh

นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนปรนอื่น ๆ อาทิ การถือปัจจัยเงินสดรับส่งกับฆราวาส ก็ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการจ่ายเงินซื้อของ ซื้อตั๋วรถไฟ หรือแม้กระทั่งหยอดเหรียญเพื่อใช้ห้องน้ำสาธารณะ

“บางอย่างต้องอนุโลมตามท้องถิ่น ท้องที่ แม้แต่ไทยเองที่เป็นเมืองพุทธ ก็ทำตามพระวินัยไม่ได้ 100% เพราะไม่ใช่พุทธแบบในสมัยพุทธกาลเมื่อสองพันปีก่อน” พระมหาอิทธิ​พงศ์กล่าว

แม้การปฏิบัติตนของพระสงฆ์ในต่างประเทศจะสามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทและความจำเป็นได้ แต่ “วีซ่า” เป็นปัญหาหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และยังไม่มีวิธีแก้ไขที่ยั่งยืน ดังเช่นในประเทศอิตาลี แม้จะค่อนข้างเปิดกว้างแต่กลับไม่มีวีซ่าสำหรับนักบวช หรือผู้เผยแผ่ศาสนาอื่น นอกเหนือจากศาสนาคริสต์ พระภิกษุไทยหลายรูปในหลายประเทศจึงต้องถือวีซ่านักบวชของประเทศเยอรมนี แล้วจึงทำเรื่องมาพำนักในประเทศอื่นในสหภาพยุโรปแทน ส่วนพระธรรมทูตที่มหาเถรสมาคมส่งมา รัฐบาลไทยจะออกหนังสือเดินทางราชการหน้าปกสีน้ำเงินให้ จึงไม่มีปัญหาด้านวีซ่า

ชาวไทยและต่างชาติร่วมกันจัดงานสงกรานต์ ณ วัดพุทธเวนิส

นอกจากพระธรรมทูตแล้ว “โยมอุปฐาก” หรือฆราวาสผู้อุปการะพระภิกษุ ก็เป็นบุคคลสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้งอกงามในต่างแดน อภิชาติเล่าว่าโยมอุปฐากมักเป็นคนไทยในต่างแดนที่เกษียณแล้ว มีจิตศรัทธาและมีเวลาทุ่มเทให้กับการดูแลความเป็นอยู่ของวัดและพระภิกษุเป็นไปอย่างราบรื่น

ชาลิสา กงสันเทียะ ผู้ช่วยดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดพุทธเวนิส ประเทศอิตาลี มีหน้าที่จัดการปัจจัยต่าง ๆ ข้าวปลาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม การเดินทาง เอกสารของพระสงฆ์ รวมไปถึงการดูแลกิจกรรมและกิจการของวัด เช่น การเช่าสถานที่เพื่อจัดตั้งวัด การประชาสัมพันธ์งานบุญต่าง ๆ  ชาลิสาเล่าว่าต้องเดินทางตลอด ทั้งในอิตาลีและต่างประเทศ โดยการขับรถและนั่งเครื่องบิน เพื่อพาพระสงฆ์ไปเข้าร่วมพิธีต่าง ๆ เช่น การประชุมสงฆ์ การนั่งสมาธิภาวนาจิตนอกสถานที่ งานบวช ทำบุญวันเกิด สวดอภิธรรมแก่ผู้เสียชีวิต

“งานเด็กวัด ถ้าเราไม่ทำ ก็ไม่มีคนทำ ไม่ค่อยสะดวกกัน เราได้ทำความดี ได้บุญใหญ่ อนุโมทนาบุญสาธุนะคะ”  ชาลิสากล่าว

วัดไทยในต่างประเทศมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากแวะเวียนช่วยเหลือกิจการและงานต่าง ๆ ของวัดอย่างสม่ำเสมอ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัดเป็นวัด เป็นสถานที่ที่อิ่มบุญ อิ่มใจ ได้พบกับความสงบและยังพบกัลยาณมิตรยามจากบ้านมาไกล

การอยู่ร่วมกันของวัดไทยและชุมชนท้องถิ่น

พระมหาอิทธิ​พงศ์เผยทัศนะต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศว่ามีสองกลุ่มเป้าหมาย คือคนไทยในต่างประเทศ และคนในท้องถิ่น โดยสร้างและรักษาศรัทธาของทั้งสองกลุ่มควบคู่กัน วัดจัดงานบุญต่าง ๆ ทำบุญวันเกิด สวดอภิธรรม ถวายผ้าป่า ผ้ากฐิน เพราะคนไทยชอบทำ ส่วนกลุ่มคนท้องถิ่น ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่สนใจการนั่งสมาธิ ก็มาวัดเพื่อฝึกและศึกษาการทำสมาธิ แสวงหาความสงบทางใจ  การนั่งสมาธิถือเป็นกิจกรรมที่เชื่อมสัมพันธ์วัดกับชุมชนได้ดี ไม่ว่าวัดจะตั้งอยู่ที่ไหน วัดต่าง ๆ จึงจัดกิจกรรมตามสายที่ถนัด นั่งสมาธิ วิปัสนากรรมฐาน เดินจงกรม หรือโยคะ วิทยากรพร้อม ล่ามพร้อม บางวัดพระสงฆ์ก็สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นได้ด้วย

ชาวไทยและต่างชาตินั่งสมาธิร่วมกัน
ที่มา: วัดพุทธเวนิส

พระมหาอิทธิ​พงศ์มองว่าการจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนให้ยั่งยืน ควรนำพระพุทธศาสนาเสริมเข้าไปในประเพณี วัฒนธรรมของเขา ให้ผสมกลมกลืน ดังเช่นพิธีของพราหมณ์ฮินดูที่มีพุทธเข้าไปสอดแทรกในประเพณีไทย อย่างงานสงกรานต์ มีสรงน้ำพระ ทำบุญ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต พระมหาอิทธิ​พงศ์เล่าเสริมว่าขณะจำพรรษาอยู่ที่ฮ่องกง ในวันเชงเม้งก็จะสวดอภิธรรมให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ คนฮ่องกงนิยมมากจนต้องสวดให้นับร้อยคน วันละหลายรอบ แต่ที่ยุโรปกำลังหาช่องทางอยู่ เพราะคนยุโรปเข้าถึงยาก การปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมต่างถิ่นเป็นสิ่งใหม่สำหรับเราและเขา

“ขนาดคนไทยเอง มีน้อยมากที่มาวัดเพราะอยากนั่งสมาธิ ในต่างแดนเราก็ต้องพยายามเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในวัฒนธรรมของเขา เข้าไปอยู่ในใจคนท้องถิ่นให้ได้” พระมหาอิทธิ​พงศ์กล่าว

บรรยากาศการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ณ วัดพุทธมอลตา
ที่มา: วัดพุทธมอลตา สาธารณรัฐมอลตา

เมื่อวัดไทยจะจัดกิจกรรม ก็ต้องทำหนังสือแจ้งหน่วยงานท้องถิ่น และทำจดหมาย ใบปลิว ไปหย่อนตู้ไปรษณีย์บ้านคนในชุมชน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีการใช้เสียง มีคนมาร่วมงานจำนวนหนึ่ง และเชิญชวนคนในชุมชนมาร่วมงานด้วย ก็จะมีทั้งคนท้องถิ่นที่ไม่ชอบเสียงดัง รักความเป็นส่วนตัว ก็จะส่งจดหมายร้องเรียนไปยังส่วนราชการท้องถิ่น ทางวัดก็ต้องไปจัดการ ส่วนกลุ่มที่ชอบก็จะมาร่วมงานและสนับสนุนกิจกรรมของวัด 

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนอิตาลี ที่มีลักษณะนิสัยสบาย ๆ สนุกสนานเหมือนคนไทย จะค่อนข้างชอบกิจกรรมของวัดไทย หากเจอพระภิกษุห่มจีวรสีแก่นขนุนก็เข้ามาทักทายอย่างเป็นมิตร ทั้งนี้อาจเพราะความคุ้นชินกับ “องค์ลามะกังเชน” พระธิเบตผู้นำร่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบวัชรยานไปยังประเทศอิตาลีมานานกว่า 40 ปีแล้ว

องค์ลามะกังเชน
ที่มา: Unione Buddhista Italiana

การสนับสนุนและรายได้ของวัด

ปัจจัย หรือเงินสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ ของวัด นอกจากปัจจัยที่ญาติโยมบริจาคตามจิตศรัทธาแล้ว ก็มาจากการทอดกฐิน ซึ่งนับเป็นรายได้หลักในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด เช่น ค่าอุปโภคบริโภค ค่าเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ ค่าเช่าสถานที่ ค่าดำเนินการต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งบางวัดที่มีกำลังทรัพย์น้อยก็ต้องปิดตัวไป  อภิชาติเสริมว่าโบสถ์คริสต์ต่าง ๆ ในยุโรปมีการเก็บเงินรายเดือนจากผู้มาร่วมกิจกรรมที่โบสถ์ โดยโบสถ์ก็จะทำพิธีให้ผู้ที่จ่ายเงิน ซึ่งวัดไทยในต่างประเทศไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะวัดเป็นที่พึ่งสำหรับทุกคน ทั้งยังเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร 

“สองปีก่อน วัดใหญ่ (วัดพระธรรมกายที่ไทย) เขาทอดกฐินได้ เขาก็แบ่งมาให้วัดเราสองล้านกว่าบาท ก็พออยู่ได้จากเงินตรงนี้” ชาลิสาเล่าถึงแหล่งรายได้และการสนับสนุน  ซึ่งในส่วนของการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น ธีรยุทธเล่าว่าที่อิตาลี ผู้จ่ายภาษีสามารถระบุได้ว่าอยากให้นำภาษีส่วนหนึ่งไปบำรุงศาสนาใดก็ได้ ถ้าวัดจดทะเบียนเป็นศาสนสถานก็สามารถเข้าถึงเงินภาษีส่วนนี้ได้ แม้ผู้จ่ายภาษีในอิตาลีส่วนใหญ่จะเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่ก็มีการจัดสรรปันส่วนภาษีบำรุงศาสนาอื่น ๆ ด้วย

ร่มเงินร่มทอง งานทอดกฐินสามัคคีของศูนย์ปฏิบัติธรรมไลพ์ซิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ที่มา: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

ส่วนการสนับสนุนจากฝั่งหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น สถานทูต กระทรวงการต่างประเทศ ก็ขึ้นอยู่กับสังกัดของวัด เช่น วัดที่หน่วยงานรัฐหรือมหาเถรสมาคมก่อตั้ง หรือวัดที่ก่อตั้งโดยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไทยในต่างแดน แต่ไม่ว่าจะวัดแบบใด เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย หน่วยงานรัฐของไทยก็จะส่งทูต ผู้ช่วยทูต เจ้าหน้าที่กงสุล หรือตัวแทน ไปร่วมกิจกรรม เช่น งานทอดกฐิน งานอุปสมบท งานสงกรานต์ เป็นต้น เพราะวัดนับเป็นหนึ่งในสถานที่เผยแพร่วัฒนธรรมไทย ให้คนมาจัดกิจกรรม พบปะสังสรรค์ และเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยในต่างประเทศได้เช่นกัน

การดำรงอยู่ของวัดไทยในต่างประเทศต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือศรัทธาของผู้มาวัด หากไร้ซึ่งศรัทธา วัดก็ไม่อาจทำหน้าที่เป็นสถานพักพิงจิตใจในต่างแดนได้

แม้วัดไทยในต่างแดนพยายามปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แต่ก็ยังคงความเป็นไทยให้คนไทยไกลบ้านได้พักพิง เปิดประตูต้อนรับทุกคนเสมอ ถึงจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ หรือศาสนาใดเลย แต่การได้มาวัดเพื่อพบปะพูดคุยด้วยภาษาที่คุ้นเคย กินอาหารที่คุ้นลิ้น และทำกิจกรรมร่วมกับ “คนบ้านเดียวกัน” ก็พอจะคลายความเหงาลงได้บ้าง

วัดจึงไม่ใช่แค่วัด แต่เป็นตัวแทนของบ้านเกิดเมืองนอน ที่นอกจากจะทำให้คนไทยรู้สึกเหมือนอยู่บ้านแล้ว พุทธธรรมในวัดยังเชื้อเชิญให้ญาติธรรมกลับคืนสู่บ้านอันแสนสงบภายในใจ