Community Travel

ชวนเดินป่าชุมชน ‘อ่าวอ้ายยอ’ ณ ทุ่งสง

สัมผัสธรรมชาติ 'ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ' พร้อมเรียนรู้การมีส่วนร่วมในการจัดการและอนุรักษ์ป่าชุมชน

สายเดินป่าห้ามพลาด unseen ทุ่งสง ‘ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ’ สัมผัสธรรมชาติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านหมู่ 4 ต.น้ำตก พร้อมเรียนรู้การมีส่วนร่วมในการจัดการและอนุรักษ์ป่าของชุมชน

เรื่อง : พิชญ์สินี เกษมพิฒน์
ภาพ : พิชญ์สินี เกษมพิพัฒน์, พรวิภา หิรัญพฤกษ์

“สูงสง่าภูผาผึ้ง งามเป็นหนึ่งป่าไม้ใหญ่
พืชพันธุ์สมุนไพร ชื่นใจบ่อน้ำมหัศจรรย์
ถ้ำค้างคาวงามล้ำค่า สัตว์ในป่านานาพันธุ์
นกกินน้ำแสนสุขสันต์ งามสัมพันธ์ดงพญาเย็น
แสงสวยเด่นเขาวงกต มนต์สะกด ‘อ่าวอ้ายยอ’

กรอบใส่คำขวัญห้อยอยู่บนคานไม้ของศาลาขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับทางเข้าป่าชุมชนแนะนำ “ป่าอ่าวอ้ายยอ” ที่ตั้งห่างจากสนามบินนครศรีธรรมราชมาประมาณ 80 กว่ากิโลเมตรและน้อยคนจะรู้จัก 

ป่าอ่าวอ้ายยอเป็นเป็นป่าดิบชื้น มีไม้ใหญ่ และไม้ที่ไม่ได้ผลัดใบตามฤดูกาล จึงเขียวชอุ่มตลอดปี อีกทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำและมีลำธารที่ช่วยผลิตน้ำหล่อเลี้ยงการทำเกษตรกรรมในพื้นที่

ทางเดินในป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ

ที่มาของ “ป่าชุมชน” อ่าวอ้ายยอ

ลุงบุญเลิศ พันธ์สนิท อดีตประธานป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ รับหน้าที่เป็นไกด์นำทางป่าของเราในวันนี้ ลุงเล่าความเป็นมาของป่าชุมชนให้แขกแปลกหน้าฟังด้วยน้ำเสียงที่สัมผัสได้ถึงภาคภูมิใจ ก่อนจะพาไปสัมผัสกับป่าอย่างใกล้ชิด

ลุงบุญเลิศ พันธ์สนิทในชุดอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน

ในอดีต ป่าอ่าวอ้ายยอเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าควนออกบ้านน้ำตก แต่พบปัญหาผู้บุกรุกป่าอยู่บ่อยๆ ทั้งพยายามตัดต้นไม้ไปใช้ หรือปรับพื้นที่ในป่าให้เป็นที่ทำกิน ตอนแรกชาวบ้านก็พยายามคุยกับผู้บุกรุกห้ามไม่ให้แผ้วถางป่าแต่คุยกันไม่รู้ความ จึงไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาจัดการ แต่ก็ยังคงมีการบุกรุกอยู่  ชาวบ้านจึงต้องคิดหาวิธีในการแก้ไขอย่าง ‘บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น’

“คนที่บุกรุกเป็นทั้งคนใน คนนอก พื้นที่ ถ้าแบบนั้นเราก็เอาป่าไว้ไม่อยู่ ต้องหาวิธีการแก้ไขให้อยู่ได้ทั้งสองฝ่าย ไม่ให้เกิดการแย่งชิงเกิดขึ้น ต้องหานโยบาย นอนคิดอยู่สองสามคืน เลยคุยกันว่า มีธงพระราชทานฯ อยู่แล้ว ก็ไปหาผู้รู้ที่เขาเคยได้ธงพระราชทานฯ มา ไปหา นายอนันต์ หวังจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านในตอนนั้น แกก็บอกว่าต้องเข้าไปหาแม่ทัพภาคที่ 4 แล้วก็ต้องหารือกับสำนักพระราชวัง เพื่อเขียนโครงการขอพระราชทานฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อออกธงพระราชทานฯ แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่าให้เขียนโครงการแล้วส่งไปสำนักนราธิวาศทักษิณนิเวศน์”

ธงพระราชทานฯ หรือธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต เป็นโครงการที่สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานให้แก่กลุ่มราษฎรที่สามารถรวมตัวกันรักษาป่าจนเป็นที่ยอมรับและมีการจัดตั้งองค์กรในการดูแลรักษาป่าไม้ อย่างน้อย 1 ปี และมีพื้นที่ป่ารักษาไม่น้อยกว่า 300 ไร่ขึ้นไป
ที่มา : สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้

แม้ในปี พ.ศ. 2545 ป่าอ่าวอ้ายยอจะได้ธงพิทักษ์ป่าจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์แล้ว (พระยศในขณะนั้น) แต่ยังไม่ได้กลายเป็นป่าชุมชน ชาวบ้านจึงยังไม่สามารถเข้าไปใช้สอยประโยชน์จากป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ ลุงบุญเลิศจึงเขียนโครงการไปยังกรมป่าไม้ เสนอให้ป่าอ่าวอ้ายยอเป็นป่าชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกหวงแหนเป็นเจ้าของป่าและช่วยกันดูแลป่า ขณะเดียวกันก็เข้าไปเก็บของป่าได้โดยไม่ผิดกฎหมาย 

“ถ้าเรามีป่าชุมชนนะ หนึ่ง ป่าก็เหลืออยู่ สอง ชาวบ้านก็ได้มีโอกาสได้ใช้สอยจากป่า การมีป่าเหมือนเรามีตลาด มีซุปเปอร์มาร์เก็ต เหมือนเรามีของทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในบ้านเรา เราไม่ต้องไปซื้อหามันมากนัก” ลุงบุญเลิศบอก

ตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 การยื่นทะเบียนขอจัดตั้งป่าชุมชนต้องเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย โดยผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชนต้องเป็นบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป อย่างน้อย 50 ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยในท้องที่อำเภอเดียวกับพื้นที่ป่าและมีความสามารถในการดูแลป่านั้น 
กลุ่มนิติการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า การจัดตั้งป่าชุมชนไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตป่าหรือเพิกถอนพื้นที่ป่า หรือเปลี่ยนแปลงสถานะ หรือถอนสภาพพื้นที่อื่นของรัฐแต่อย่างใด เพียงแต่มิให้นำกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และป่าสงวนแห่งชาติมาใช้บังคับในพื้นที่ป่าชุมชนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเพิกถอนป่าชุมชน 
ที่มา: กรมป่าไม้

หลังได้รับการอนุมัติเป็นป่าชุมชน เมื่อปีพ.ศ. 2545 ป่าอ่าวอ้ายยอก็ได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับภาคใต้ในปีพ.ศ. 2554  จากนั้นยังคว้ารางวัลรางวัลอื่น ๆ อีก ลุงบุญเลิศมองว่ารางวัลเหล่านี้คือความภาคภูมิใจ เป็นกำลังใจในการทำงานต่อ อีกทั้งยังแทบจะไม่พบคนที่จะเข้ามารุกล้ำป่า

ชาวบ้านตั้งป้ายรางวัลที่ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอได้รับถูกไว้ทางออกของป่า

ปัจจุบัน คณะกรรมการป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 17 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลป่าตามระเบียบพ.ร.บ. ป่าชุมชน รวมถึงใช้กฎ ‘70:30’ กล่าวคือ เมื่อมีการเก็บของป่าออกมาจำนวนมากต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนก่อนและต้องแบ่งรายได้ 30% เข้าป่าชุมชน ส่วนอีก 70% จะเป็นของชาวบ้านที่เก็บของป่า นอกจากนี้ยังไม่ให้นำไม้ใหญ่ออกจากป่า ถ้ามีการเอาออก คณะกรรมการจะยึดของกลาง

มนพ ประพฤติชอบ หรือ ที่ชาวบ้านหมู่ 4 เรียกกันว่า รองฯ ตา ประธานป่าชุมชนคนปัจจุบัน  และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำตก บอกว่าชุมชนต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวป่าเชิงอนุรักษ์มากขึ้น เพื่อให้คนภายนอกสามารถเข้ามาศึกษาพืชพันธุ์ต้นไม้ สัตว์ป่า หรือเห็ดรา ที่มีในป่าได้ การจัดกิจกรรมโดยดึงหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมถือเป็นการสร้างจิตสำนึกในการดูแลป่าอ่าวอ้ายยอและป่าทั่วทั้งประเทศ

มนพ ประพฤติชอบ หรือ รองฯ ตา ขณะนั่งคุยกับนิสิตนักศึกษาที่มาทัศนศึกษาที่บ้านถ้ำตลอด

“ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานมหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษา บางครั้งก็มีกิจกรรมให้เข้ามาช่วยปลูกพืชสมุนไพร ช่วยขยายพันธุ์พืชสมุนไพรที่เราได้ขยายเอาไว้แล้ว  ผู้คนจะรู้จักพันธุ์พืชมากขึ้น จะรู้ถึงคุณประโยชน์ของพืชแต่ละชนิดว่าเป็นยาสมุนไพรที่สามารถนำไปบำรุงร่างกาย หรือนำไปบำบัดในเรื่องของอาการเจ็บป่วยได้”

“การเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าจะทำให้ผู้คนที่เข้ามาแล้วรู้สึกประทับใจในป่าชุมชนว่า เข้ามาแล้วมีป่าชุมชนมีความร่มรื่นมีความเย็นสบาย คนที่เข้ามาสัมผัสก็เกิดจิตสำนึกกลับไปบ้าน ก็จะนำต้นไม้ไปปลูกรอบๆ บ้านหรือในที่ดินที่เขามีอยู่ เช่น ไม้ที่หายากหรือไม้ที่เป็นประโยชน์ต่อเขา เช่น พวกพืชสมุนไพร” รองฯ ตากล่าว


ท่องป่าเชิงอนุรักษ์กับไกด์ชาวบ้าน

เนื่องจากป่าอ่าวอ้ายยอเป็นป่าชุมชน ใครที่สนใจจะมาเดินป่าต้องแจ้งคณะกรรมการป่าชุมชนทราบก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปกระทำการใดที่ผิดต่อหลักพ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการฯ นอกจากนี้ ด้วยเส้นทางการเดินป่าที่ซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีคนในพื้นที่นำทางตลอดเส้นทาง

ไกด์ชาวบ้านยังเป็นไฮไลต์สำคัญของการเดินเที่ยวป่าอ่าวอ้ายยอ เพราะเป็นทั้งคนนำทางและคุณครูสอนเรื่องพันธุ์ไม้ โดยเฉพาะสมุนไพรต่าง ๆ ที่เราพบตลอดเส้นทางการเดินป่า นอกจากได้ความรู้ ไกด์ชาวบ้านยังพาเราชิมพืชผลในป่าที่น่าสนใจจนอิ่มสมองเลยทีเดียว

มานิตย์ ประพฤติชอบ อีกหนึ่งไกด์ชาวบ้าน โชว์หน่อไม้ขนาดใหญ่ที่ขุดได้ระหว่างทางขณะพาเดินท่องป่า ต่อมาหน่อไม้ก็กลายมาเป็นต้มกะทิ อาหารกลางวันของนักเดินป่า

ในป่าอ่าวอ้ายยอยังพบพืชท้องถิ่นที่เป็นสมุนไพรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ต้นบอนส้ม พืชล้มลุกพุ่มเตี้ยที่ชาวบ้านนิยมเก็บมาทำแกงส้ม ต้นว่านค้างคาวดำ (เนระพูสรีไทย) ต้นใบเดี่ยวเขียวเข้มดอกหน้าตาคล้ายค้างคาว มีสรรพคุณขับเลือดขับลมในผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีเห็ดต่างๆ เช่น เห็ดปลอกที่คนนิยมนำมาทำแกงเลียง และมีไลเคนให้ศึกษาในป่าอีก 20 กว่าชนิด

จุดเริ่มต้นการเดินป่าอ่าวอ้ายยอคือศาลาตรงทางเข้าป่าที่เราสามารถอ่านประวัติของหมู่บ้าน ความเป็นมาของป่า รวมถึงสาระน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ จากจุดนี้ จะสามารถแบ่งเส้นทางเดินป่าได้เป็น 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางทิศเหนือ เส้นทางทิศใต้ เส้นทางทิศตะวันออก เส้นทางทิศตะวันตก

ศาลาทางเข้าป่า
ป้ายป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอที่หน้าทางเข้าป่าชุมชน
แผนที่ป่า

หากเริ่มต้นจากศาลาซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตก มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร จะพบกับ ‘บ่อน้ำมหัศจรรย์’ ซึ่งเป็นโพรงหินที่ลึกลงไปจากพื้นประมาณ 7 เมตร ด้านล่างเป็นบ่อที่มีน้ำขังอยู่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าบ่อน้ำมหัศจรรย์เพราะว่าบ่อน้ำแห่งนี้ไม่เคยแห้งแม้ในหน้าแล้งที่น้ำในลำห้วยจะแห้งหมด  แถมยังใสสะอาด หากเดินป่าแล้วกระหายน้ำ ก็รู้ทันทีว่าต้องมุ่งหน้ามาที่จุดใด

ไกด์ชาวบ้านบอกว่าจุดเช็คอินที่สายธรรมชาติไม่ควรพลาดมีอย่างน้อย 11 จุด เริ่มจาก “จุดต้นไม้ใหญ่” ซึ่งมี “ต้นตะเคียนซวย (ไข่เขียว)” ที่มีเส้นรอบวงถึง 16 เมตร (หรือราว 7 คนโอบ) สูงประมาณ 100 เมตรโดยปกติคนนิยมนำไม้ไข่เขียวมาแปรรูปเป็นแผ่นไม้สร้างบ้าน แต่เนื่องจากเป็นป่าชุมชนที่คนในชุมชนจะไม่ตัดไม้ยืนต้นไปทำที่พักอาศัย ต้นไข่เขียวนี้จึงมีอายุราว ๆ 500 กว่าปีแล้ว รองฯ ตาบอกว่าต้นไม้ช่วยเก็บความชุ่มชื้นของพื้นที่ไว้ได้มาก ป่าอ่าวอ้ายยอจึงเป็นป่าต้นน้ำสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้จนถึงทุกวันนี้ 

ลุงบุญเลิศอธิบายเกี่ยวกับต้นตะเคียนซวยให้ผู้ที่มาทัศนศึกษาฟัง

‘ไผ่’  ไม้ที่ดูธรรมดาแต่มีความพิเศษ ก็มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ  ทั่วทั้งป่า นอกจากจะเป็นแหล่งที่เราจะได้หน่อไม้ขนาดใหญ่กลับไปแกงกินแล้ว ลุงบุญเลิศสอนว่านี่ยังเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอีกด้วย หากหลงป่าแล้วหิวน้ำ การเจอดงไม้ไผ่อาจทำให้เราได้เจอน้ำสะอาดโดยไม่ต้องเดินไปถึงลำห้วย ว่าแล้วลุงบุญเลิศก็ใช้พร้าคู่ใจผ่าปล้องไม้ไผ่ให้ดู แถมเหลาก้านไม้ไผ่เป็นหลอด d.i.y. แถมให้ด้วย ลุงบุญเลิศยังให้ทริคอีกว่าต้องเลือกปล้องที่ดูใหม่หน่อย หากเก่าแล้วน้ำอาจไม่สะอาด และให้ดูสีน้ำที่กระฉอกออกตอนผ่าปล้อง ตรวจเช็คความใสสะอาดก่อนดื่ม

ดงไม้ไผ่ที่พบได้ทั่วไปในป่าชุมชนอ่าวอ้ายย
วิธีเฉาะปล้องไม้ไผ่เพื่อหาน้ำ

ไม่ไกลกันจากต้นไข่เขียวประมาณ 300 เมตร จะเจอกับ ‘ถ้ำผู้กอง’  ซึ่งเป็นจุดให้พักกางเต็นท์ได้ ในบริเวณเดียวกันจะมีต้นตะเคียนใหญ่อีกหนึ่งต้น รวมถึงมี ‘สวนหลวนควาย’ หรือสวนทุเรียนในป่า ในอดีตมีชาวบ้านเข้าไปปลูกทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านเอาไว้ ภายหลังเมื่อกลายเป็นป่าชุมชน ก็ยกสวนให้เป็นมรดกตกทอดชาวบ้านสามารถเข้าไปเก็บผลทุเรียนมารับประทานได้ หาก ใครที่สนใจมาเดินป่าอ่าวอ้ายยอและต้องการรับประทานทุเรียนและผลิตภัณฑ์ทุเรียนแปรรูปต่าง ๆ แนะนำว่าต้องมาเที่ยวป่าช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนซึ่งเป็นช่วงเดือนทุเรียนกำลังพร้อมทานเท่านั้น

แต่หากเริ่มจากศาลาใหญ่ แล้วเดินไปทางทิศตะวันออก สักพักก็จะเจอศาลาขนาดเล็กเป็นที่นั่งพักกลางป่า ถัดไปไม่ไกลจะเจอกับ ‘ต้นพูพอน’ ไม้ใหญ่ขนาด 10 กว่าคนโอบ ต้นพูพอนมีรากใหญ่ ซึ่งทำให้สามารถส่งลำต้นให้ตั้งตรงและสูงขึ้นไปได้มาก  นี่เป็นอีกจุดถ่ายรูปสำคัญที่ไม่ควรพลาดหรือจะนั่งพักหลบแดดคลายร้อนก่อนออกเดินทางต่อก็ย่อมได้

รากต้นพูพอนขนาดใหญ่ กว้างขวางพอจะให้เข้าไปยืนถ่ายรูปหรือนั่งพักหลบแดดได้

ไม่ไกลกันนักคือ ‘ดงพญาเย็น’ “ดง” หมายถึงที่ซึ่งมีต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นหนาแน่น ในที่นี้คือต้นบุกภูเขา ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน แตกกิ่งก้านเยอะ ดอกของบุกภูเขามีสีชมพูอมม่วง กิ่งกับลำต้นจะเย็น สัมผัสคล้ายเนื้อว่านหางจระเข้ แม้คนจะกินไม่ได้ แต่ยอดอ่อนของบุกภูเขาถือเป็นอาหารอันโอชะของลิงป่าทีเดียว 

จากบริเวณดงพญาเย็น หันหน้าไปทางทิศใต้จะเจอกับ ‘เขาลูกกลาง’  ซึ่ง รองฯ ตา ประธานคณะกรรมการป่าชุมชน วางแผนไว้ว่าจะทำเป็นจุดชมวิว  เนื่องจากเป็นบริเวณที่จะทำให้เห็นเขาที่ล้อมรอบป่าและเส้นทางที่ได้เดินเข้าป่ามา รวมถึงภูมิทัศน์โดยรอบที่ห่างออกไปถึง 20 กิโลเมตร หรือสำหรับสายส่องสัตว์ ที่อยากเห็นลิงหรือค่างตัวเป็น ๆ ถือเป็นอีกจุดที่ควรมาอย่างยิ่ง

ดงพญาเย็น อีกจุดที่คนเดินป่าแวะพักกลางทางได้
เขาลูกกลาง จุดชมวิวที่จะมองเห็นทิวทัศน์รอบป่าและพื้นที่ใกล้เคียง
(ภาพจากเฟสบุ๊ก ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ บ้านถ้ำตลอด)

มาถึงจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้หากได้มาเดินท่องป่าอ่าวอ้ายยอคือจุดชมหน้าผา หรือ ‘ภูผาผึ้ง’ ที่เราจะได้เห็นรังผึ้งป่าขนาดใหญ่กว่า 10 รัง ห้อยติดอยู่บนหน้าผาจากระยะไกล การที่ภูผาผึ้งนี้มีผึ้งมาทำรังมากมายสะท้อนว่าป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ เพราะผึ้งมักจะเลือกป่าที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด

จุดชมภูผาผึ้งจากระยะไกล แถบสีดำคือรังผึ้งป่าขนาดใหญ่

เวลาชาวบ้านจะมาเก็บน้ำผึ้งป่าต้องโรยตัวจากหน้าผาด้านบนลงมารมควันไล่ผึ้งในรังก่อน ซึ่งเสี่ยงอันตรายพอควร ทำให้น้ำผึ้งป่ามีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป ใครที่อยากชมผึ้งป่าพร้อมรัง ต้องมาเที่ยวอ่าวอ้ายยอในช่วงเดือนมกราคมจนถึงมิถุนายน นอกจากช่วงเวลานั้นจะเหลือเพียงแต่รัง เพราะจะเข้าสู่ฤดูฝน ผึ้งจะทิ้งรังเก่าที่ดูดน้ำหวานหมดแล้วไปสร้างรังใหม่ที่อื่น

ด้านซ้ายขึ้นไปทางทิศตะวันออกของดงพญาเย็นคือ ‘ถ้ำค้างคาว’ ที่ชาวบ้านมักเข้าไปเก็บมูลค้างคาวมาผสมเป็นปุ๋ยใส่พืชผลการเกษตร สายดูค้างคาวมักมาที่นี่เพราะมีค้างคาวหลายชนิด  แถมยังมีจำนวนมาก ขนาดที่เมื่อเดินเข้าถ้ำไป เท้าก็จะจมมูลค้างคาวเลยทีเดียว 

หากใครสนใจอยากส่องค้างคาวในถ้ำต้องแต่งตัวมิดชิด ปิดจมูกและปากให้มิด และต้องใส่หมวกเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากมูลค้างคาว เนื่องจากจะมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้ป่วยได้ รองฯ ตาบอกว่า แม้การชมค้างคาวจะสามารถชมได้ทั้งวันตลอดปี แต่แนะนำให้เข้ามาชมช่วงกลางวันเพราะเป็นช่วงที่ค้างคาวอยู่เยอะ

สำหรับสายส่องนก ลองมาเที่ยวจุดส่องนกของป่าอ่าวอ้ายยอได้ จากถ้ำค้างคาวเดินมาลงมาทางทิศตะวันตก จะเจอกับจุดดังกล่าว เนื่องจากที่นี่เป็นป่าต้นน้ำที่ลำธารมีน้ำไหลอยู่ตลอด นกหลากหลายชนิดจึงมักมาแวะกินน้ำและเล่นน้ำ เวลาดีสำหรับการดูนกคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ประมาณบ่ายโมงจนถึงช่วงเย็น หลังจากนั้นนกจะกลับเข้ารัง  รองฯ ตาบอกว่า มักจะเจอนกหายาก เช่น นกขากรรไกร ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าป่าอ่าวอ้ายยอมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  นกเหล่านี้จึงมาอยู่อาศัย

สำหรับคนที่อยากดูสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ย้อนกลับไปที่ศาลาทางเข้า แล้วเดินไปทางซ้ายของศาลา มุ่งตรงไปทิศเหนือ ทะลุสวนยางพาราไป จะเจอกับ ‘ถ้ำเจดีย์’ ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าในอดีตมีผู้คนเข้าไปหลบแดดหลบฝนที่นั่น เมื่อถึงช่วงประมาณปีพ.ศ. 2500 (ไม่สามารถระบุแน่ชัด) เกิดอหิวาตกโรคระบาด คนจึงเข้ามาอาศัยในถ้ำ แต่ต่อมามีผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ชาวบ้านก็นำศพมาเก็บไว้ที่นี่ ก่อนแยกย้ายไปอยู่ภูมิลำเนาอื่น ในถ้ำยังพบร่องรอยของหม้อดินที่ใช้ต้มยารักษาโรค

เสน่ห์ของถ้ำเจดีย์คือหินงอกหินย้อย ซึ่งเกิดจากน้ำบนภูเขาซน เทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สันเขาติดกับป่าอ่าวอ้ายยอ หยดลงมาเป็นหินปูน กลายเป็นหินงอกหินย้อยที่มีขนาดใหญ่ไม่เหมือนใคร ฐานกว้างกว่า 5 เมตร และสูงกว่า 7 เมตร อีกทั้งยังมีรูปร่างคล้ายเจดีย์ ชั้นของหินแต่ละชั้น โผล่ขึ้นมาเหมือนกลีบดอกบัว เมื่อนำไม้ไปเคาะ จะมีเสียงกังวาน แถมแต่ละชั้นจะส่งเสียงไม่เหมือนกัน

ปากทางเข้าถ้ำเจดีย์ ต้องมีทักษะการป่ายปีนและรองเท้าดอกยางดีพอสมควร
หินงอกหินย้อยรูปร่างคล้ายเจดีย์ที่อยู่กลางถ้ำ

สำหรับคนที่มีเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง สามารถเดินป่าอ่าวอ้ายยอแบบไม่ต้องค้างคืนได้ โดยไกด์ชาวบ้านจะจัดสรรเส้นทางการเดินป่าที่เหมาะสมกับความต้องการให้ แต่ถ้าเป็นไปได้ควร ลองเปลี่ยนเส้นทาง จะได้เดินป่าให้ถ้วนทั่วเพื่อให้เห็นธรรมชาติที่หลากหลายและครบทุกจุดสำคัญ

ส่วนสายเดินป่าคนไหนที่สนใจค้างคืนในป่าอ่าวอ้ายยอ ไกด์ชาวบ้านก็สามารถพาไปยังจุดกางเต็นท์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วป่า ให้เข้าถึงธรรมชาติได้เต็มๆ โดยสามารถนำเต็นท์มาเองหรือจะมาตัวเปล่าแล้วมาเช่าเต็นท์เอาก็ได้ แม้ไฟฟ้าจะยังไม่มี แต่ก็ไม่ต้องกังวลเพราะรองฯ ตาบอกว่า เรายังสามารถสร้างไฟจากธรรมชาติด้วยการเอายางต้นไม้มาทำเป็นคบเพลิง หรือก่อกองไฟในป่าได้ แต่ต้องระมัดระวังและเตรียมน้ำเพื่อดับไฟไม่ให้ไฟลามออกด้านนอก

ส่วนเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่ต้องกังวลเพราะมีน้ำในลำห้วยตลอดทั้งปี  การเดินเที่ยวในป่าอ่าวอ้ายยอเน้นใช้วัตถุดิบในป่าให้เป็นประโยชน์ ไม่นำขยะจากเมืองเข้าป่า โดยการค้างคืนที่นี่ยังเปิดให้เฉพาะคนกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 10 คนเพื่อให้ไกด์ชุมชนดูแลได้อย่างทั่วถึง


“สร้างจิตสำนึก-สร้างความร่วมมือ” กุญแจสำคัญในการรักษ์ป่า

การที่ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยออุดมสมบูรณ์มาถึงขนาดนี้ได้ หลักสำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลป่าของชุมชน แม้ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่ 4 จะมีส่วนร่วมประมาณหนึ่งแล้ว แต่รองฯ ตามองว่ายังต้องการชาวบ้านจำนวนเพิ่มขึ้นเข้ามามีส่วนร่วมจนทั่วทั้งตำบล เพื่อจะได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนซึ่งจะช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นได้มากขึ้น “เริ่มจากต้องสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าไม้ ป่าไม้สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ได้ทางอ้อมโดยที่เขาไม่รู้ตัว” รองฯ ตากล่าว

ผู้ใหญ่ที่ดูแลป่าชุมชนยังให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมร่วมกับนักเรียนจากหมู่อื่น ๆ ใน ต.น้ำตกบ่อยครั้ง เช่น กิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยในป่า ที่ให้เด็กและเยาวชนสามารถบอกเล่าเรื่องราวและจุดเด่นของป่าชุมชนได้ ซึ่งตอนนี้มีมัคคุเทศก์น้อยแล้วประมาณ 2 – 3 คนที่ชำนาญเส้นทาง 

“เด็ก ๆ ตื่นเต้นมากที่ได้ทำกิจกรรมปรุงอาหารในป่า ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการอยู่ในป่า  สอนเรื่องประโยชน์ของพันธุ์ไม้สมุนไพร ให้องค์ความรู้กับเด็กเพื่อให้เด็กมาถ่ายทอดให้พ่อแม่ผู้ปกครองอีกครั้งหนึ่งและก็ให้เขาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าว่า ขนาดเด็กยังชอบป่าเลย พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่คิดที่จะทำลายป่า” รองฯ ตากล่าว

รองฯ ตากำลังทำหน้าที่เป็นไกด์อธิบายเกี่ยวกับต้นไม้ในป่าให้เด็กในหมู่บ้านฟัง

ลุงบุญเลิศก็มักพาเยาวชน โดยเฉพาะหลานๆ ของตัวเองไปเดินป่าบ่อย ๆ 

“บอก (เด็กๆ) ว่าเรามีป่าเรามีน้ำนะ ต้นไม้ต้นนี้อมน้ำประมาณเท่านั้น หลายสิ่งหลายอย่างที่เด็กเข้าใจหลังจากที่เราพูดเสร็จแล้วมันก็ดี เพราะว่าถ้าเราไม่มีป่า มันร้อน”

หมาก วรศักดิ์ แสงสุวรรณ วัยรุ่นฟันน้ำนมวัย 11 ปี ที่เดินป่าอ่าวอ้ายยอมาแล้ว 5 ครั้ง เล่าว่าการเดินป่าไม่เหนื่อยเลยเพราะเส้นทางไม่ชันมาก เดินง่าย อีกทังยังมีศาลาให้พักอีก ส่วนตัวหมากชอบบ่อมหัศจรรย์ที่สุดเพราะมีน้ำใส หมากรู้สึกภูมิใจในป่าชุมชนประจำหมู่บ้านของตัวเองมากเพราะอุดมสมบูรณ์ แถมทิ้งท้ายว่า สำหรับเขาแล้ว “ป่าคือชีวิต”

ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอจึงเป็นป่าที่นอกจากอุดมไปด้วยความหลากหลายและความสมบูรณ์ของธรรมชาติแล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ป่า ที่พยายามส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ซึ่งความพยายามนี้คงจะไม่เกิด หากชาวบ้านไม่เห็นถึงความสำคัญของป่า

ผู้ที่ต้องการเข้ามาสัมผัสป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่
นายบุญเลิศ พันธ์สนิท (ลุงบุญเลิศ) โทร 093 - 605 - 5844 
นายมนพ ประพฤติชอบ (รองฯ ตา) โทร 087-883-8386 
ค่าใช้จ่าย 
โปรแกรมเดินป่าอย่างเดียว ครึ่งวัน 8.00 - 12.00 น. ไม่รวมอาหารในป่า ราคา 300 บาท/คน 
โปรแกรม 1 วัน รวมอาหารในป่า ราคา 500 บาท/คน 
โปรแกรม 1 วัน 1 คืน รวมอาหารในป่า และรวมเต็นท์ ราคา 700 บาท/คน
*ชาวบ้านสามารถรองรับนักเดินป่าได้ประมาณ 4 กลุ่มต่อวัน (กลุ่มละไม่เกิน 7 คน) โดยจะจัดเส้นทางเดินป่าที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ และความต้องการของนักท่องเที่ยว