Art & Culture Top Stories

สำรวจเวทีประกวดลูกทุ่ง ผ่าน ‘ตะแบกบาน’ วงลูกทุ่งหญิงล้วนประจำโรงเรียนศึกษานารี

ร่วมสำรวจลูกทุ่งไทยผ่านการเดินทางของ ‘ตะแบกบาน’ วงดนตรีลูกทุ่งประจำโรงเรียนศึกษานารี กว่าจะขึ้นเวทีประกวดได้ ต้องซ้อมหนักแค่ไหน พร้อมไขข้อสงสัย เหตุใดลูกทุ่งไทยถึงยังไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร

เรื่อง : วรรณิกา อุดมสินวัฒนา
ภาพ : วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

ยินดีต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่รายการชิงช้าสวรรค์ หมุนติ้วๆ เวลาดี 16:30 ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี!

ก่อนที่รายการแข่งขันประกวดร้องเพลงจะเกิดขึ้นอย่างมากมายและเป็นที่นิยมเหมือนทุกวันนี้  ทั้งการเฟ้นหาทีป็อปไอดอลอย่าง 789 Survival หรือรายการ Girl Group Star ที่เป็นจุดกำเนิดของวงเกิร์ลกรุ๊ปไทยอย่าง ‘4EVE’ เป็นต้น เชื่อว่าใครหลายคนต้องเคยได้ยินประโยคข้างต้นจากหน้าโทรทัศน์ ในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์

ชิงช้าสวรรค์ เป็นอีกหนึ่งรายการประกวดแข่งขันที่โด่งดังมากว่าสิบปี โดยมีเอกลักษณ์คือผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นวงดนตรีลูกทุ่งจากระดับมัธยมศึกษา ออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวีในพ.ศ.2547 ภายหลังย้ายไปช่องเวิร์กพอยต์ในพ.ศ.2558

ปัจจุบัน ชิงช้าสวรรค์ยังคงหมุนต่อไปดังชื่อรายการ ทว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย โดยมีการตระเวนไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อรับสมัครผู้เข้าแข่งขันจาก 5 จังหวัดของแต่ละภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ปทุมธานี และนครศรีธรรมราช แล้วคัดเลือกวงดนตรีลูกทุ่งระดับมัธยมศึกษา 20 ทีมเพื่อประกวดในระดับประเทศ ซึ่งทีมที่ชนะการประกวดจะได้ครองถ้วยพระราชทาน พร้อมทุนการศึกษา 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี รายการชิงช้าสวรรค์จะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าหากขาดตัวแปรสำคัญอย่างผู้เข้าร่วมแข่งขัน หรือ ‘กลุ่มนักเรียนมัธยม’ เนื่องจากนักเรียนจากหลากหลายพื้นที่ทั่วไทยได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ อีกทั้งยังใช้เวลาพักผ่อนในช่วงปิดเทอมไปกับการฝึกซ้อมเพื่อมาแข่งประกวดรายการดังกล่าว 

วันนี้ นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสเข้าใกล้เส้นทางความฝันของนักเรียนกลุ่มหนึ่งมากขึ้น เพราะสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าคือตึกใหญ่สีขาว หน้าตึกมีธงชาติตั้งตรงตระหง่าน สถานที่นี้คงเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจากโรงเรียน และที่นี่คือโรงเรียนศึกษานารี

“ลูกทุ่งมีเสน่ห์ของมันนะ ยิ่งพอเป็นวง ต้องอาศัยเครื่องดนตรี อาศัยแรงคนจำนวนมาก ก็ยิ่งยาก คนไทยเราอาจจะมีภาพจำเนอะ ว่าคนเล่นดนตรีต้องเป็นผู้ชาย ต้องกำยำ ถ้าผู้หญิงมาเล่นจะไหวไหม แต่ถ้าได้ดูชิงช้าสวรรค์ ก็จะรู้เลยว่าศึกษานารีทำได้”

ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ หรือครูโอ๋ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าโรงเรียนศึกษานารี เล่าให้ฟังถึงความสามารถของคณะวงดนตรีศึกษานารี

นอกเหนือจากความโดดเด่นในด้านวิชาการของโรงเรียนศึกษานารีแล้ว อีกด้านหนึ่งที่เราไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือประวัติวงดนตรีลูกทุ่งของโรงเรียนที่มีมายาวนานกว่าสิบปี 

ย้อนกลับไปในพ.ศ. 2549 โรงเรียนศึกษานารีได้เข้าร่วมรายการชิงช้าสวรรค์เป็นครั้งแรก และได้คว้าแชมป์ประจำฤดูมาครอง ในพ.ศ. 2550 ศึกษานารีก็ได้ตำแหน่งรองแชมป์ประจำฤดูไปครอง ทว่าในเวลาถัดมา โรงเรียนก็ทิ้งช่วงจากรายการแข่งขันไปสักพักเนื่องด้วยเหตุผลบางประการ

จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ศึกษานารีก็มีโอกาสได้เข้าร่วมแข่งรายการชิงช้าสวรรค์อีกครั้ง การแข่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของโรงเรียนหญิงล้วนแห่งนี้ 

หน้าห้องประชุมขนาดเกือบ 30 ตารางเมตร ก่อนเปิดประตูเข้าไป ยินเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กหญิงดังทะลุออกมา 

ตะแบกบาน

“สวัสดีค่า วงตะแบกบานค่า” เหล่าเด็กผู้หญิงกว่า 30 ชีวิต กล่าวทักทายผู้มาเยือนอย่างพร้อมเพรียง 

“ชื่อวง ‘ตะแบกบาน’ มาจากชื่อดอกตะแบก ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำโรงเรียนของศึกษานารีค่ะ” คุณครูดวงรัตน์ ชีววิวรรธน์ คุณครูวิชานาฏศิลป์ที่ควบตำแหน่งผู้จัดการวงตะแบกบานเล่าให้ฟัง

ห้องประชุมขนาดใหญ่ มีที่กว้างมากพอจะแบ่งเป็นสองโซน โซนหนึ่งสำหรับกลุ่มวงดนตรี และโซนหนึ่งสำหรับกลุ่มแดนเซอร์ เราเห็นเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดีดอย่างกีตาร์ เครื่องตีอย่างกลอง รวมถึงเครื่องเป่าลมไม้และเครื่องเป่าลมทองเหลืองอย่างทรัมเป็ตหรือทรอมโบน

“เวลาเราร้องเพลงไทยสากล บางทีใช้เครื่องดนตรีสี่ชิ้นก็สมบูรณ์แล้ว เปียโน กลอง กีตาร์ เบส แต่วงลูกทุ่งเขาเรียกว่า Big Band ต้องยิ่งใหญ่ อลังการ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องเป่าด้วย ฉะนั้นถ้าเสียงของนักร้องไม่แข็งแรงพอ อาจจมไปกับดนตรีได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่ทุกคนฝึกซ้อมมาอย่างดี นักร้องร้องถึง วงลูกทุ่งก็จะมีพลังมากๆ” ครูโอ๋จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงศักยภาพของวงดนตรีลูกทุ่ง

ระหว่างการซ้อม เสียงดนตรีดังเซ็งแซ่ที่ได้ยินก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความอลังการที่ครูโอ๋เล่าให้ฟังได้เป็นอย่างดี

ส่วนอีกด้านหนึ่งของห้องประชุมก็ไม่หยุดอยู่นิ่ง ทีมแดนเซอร์ ฉีกแข้ง ฉีกขา ยืดเหยียดร่างกายไปตามเสียงเพลงอยู่เรื่อยๆ ขณะนั้นเอง ครูดวงรัตน์ หรือผู้จัดการวงตะแบกบานก็ได้เล่าให้เราฟังถึงตารางการซ้อมอันหนักหน่วงในช่วงปิดเทอมนี้

“สำหรับช่วงตุลาคม วงตะแบกบานกำลังซ้อมสำหรับงานศิลปหัตถกรรม (นักเรียน) ครั้งที่ 71 ปีการศึกษา 2566 ค่ะ เป็นรายการที่ศึกษานารีไปแข่งทุกปี ช่วงนี้ปิดเทอมก็จะซ้อมทุกวันเลย ตั้งแต่ประมาณ 8 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น แต่ถ้าช่วงใกล้แข่งมากๆ ก็จะขอผู้ปกครองไว้ถึงสัก 2-3 ทุ่มเลย”

ครูดวงรัตน์ยังเพิ่มเติมอีกว่า องค์ประกอบของวงลูกทุ่งแบ่งเป็นสามฝ่ายใหญ่ๆ ส่วนแรกคือนักร้อง ส่วนที่สองคือนักดนตรี และส่วนที่สามคือแดนเซอร์ 

ซึ่งขั้นตอนทำงานจะแบ่งเป็นช่วงๆ โดยในช่วงแรก วงดนตรีจะต้องตัดสินใจเลือกเพลงและคอนเซปต์การแสดงร่วมกัน หลังจากนั้น แต่ละฝ่ายจะแยกย้ายกันซ้อม ฝั่งนักดนตรีจะเขียนโน้ต ปรับโน้ต และนำมาพูดคุยต่อยอดกับนักออกแบบท่าเต้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกัน นักออกแบบท่าเต้นจะไปคิดการแสดงและนำมาสอนเหล่าแดนเซอร์ในช่วงเวลาถัดมา ส่วนนักร้อง ก็จะทำงานในส่วนของการร้อง การใช้เสียง และการตีความความหมายเพลง

“แม้ตอนแรกจะแยกกันทำงาน แต่สุดท้าย สามส่วนก็ต้องเดินไปพร้อมๆ กัน เพราะวงลูกทุ่งมันต้องอาศัยความพร้อมเพรียงและความเป็นหมู่มวล”

ครูดวงรัตน์กล่าว

เหล่ามวลดอกไม้

ในขณะเดียวกัน บรรยากาศการซ้อมของน้องๆ แดนเซอร์จำนวน 13 คน ก็เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ในจำนวน 13 คนนี้ มีการคละนักเรียนตั้งแต่ม.1 – ม.5 บางคนเคยอยู่ชุมนุมวงดนตรีลูกทุ่งมาหลายปีแล้ว ส่วนบางคนก็เพิ่งเข้ามาได้ไม่นาน แต่ละคนมีประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป ทว่าสิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ ใจรักในการเต้น 

“อย่างหนูเคยรำมาก่อน แล้วก็มาลองโคเวอร์แดนซ์ต่อ ก็เลยรู้สึกว่าชุมนุมนี้น่าจะใช่ทางเรา แถมยังได้ท้าทายตัวเองด้วย เพราะมันมีพวกท่ายิมนาสติกที่เราไม่เคยทำ”

“ส่วนหนูชอบเต้นเล่นๆ ขำๆ ที่บ้าน แต่ว่าชอบฟังเพลงลูกทุ่ง ก็เลยเข้าชุมนุมค่ะ”

น้องๆ เล่าให้เราฟังถึงเส้นทางก่อนจะมาเข้าวงตะแบกบาน และยังได้เพิ่มเติมถึงวิธีการคัดเลือกแดนเซอร์เข้าชุมนุม โดยทางคุณครูประจำชุมนุมจะพิจารณาจากพื้นฐานการเต้น และท่าเบสิก แต่สิ่งสำคัญที่สุดในเกณฑ์การพิจารณาก็คือ ‘ใจรัก’ เนื่องจากวงดนตรีลูกทุ่งของโรงเรียนมีตารางการซ้อมที่ค่อนข้างหนัก จำเป็นต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจ หากเต้นเก่งแค่ไหน แต่ไม่มีแรงใจมากพอก็อาจจะล้มเลิกระหว่างทางได้ 

“ถ้าพอเต้นได้ผ่านขั้นพื้นฐานก็ผ่านค่ะ ส่วนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ค่อยมาฝึกตอนเข้าชุมนุมก็ได้ แต่ที่สำคัญคือขอคนที่แพสชัน พร้อมให้ใจ เพราะมาแข่งอะไรพวกนี้มันเหนื่อย” นักเรียนอธิบายเพิ่ม

เมื่อเข้ามาด้วยแรงกายแรงใจเต็มเปี่ยม แล้วมีช่วงที่ท้อบ้างไหม? 

ทุกคนพยักหน้าพร้อมกันอย่างมิได้นัดหมาย ต่อด้วยเสียงหัวเราะของเด็กๆ

“เพราะตารางของเราในหนึ่งวันค่อนข้างแน่น เริ่มตั้งแต่วิ่งรอบสนามสักสิบรอบตอน 8 โมงเช้า เข้ามายืดเส้นยืดสายถึง 10 โมง แล้วก็ซ้อมท่าเทคนิค ตีลังกา ฉีกขา แล้วก็เก็บรายละเอียดท่าไปเรื่อยๆ พอทำซ้ำๆ ติดๆ กันหลายวันก็จะล้าบ้าง”

“อีกช่วงที่เหนื่อยที่สุดคือช่วงสอบ เพราะต้องแบ่งเวลาไปอ่านหนังสือ เข้ามาแรกๆ ก็จะยังไม่ชิน ปรับตัวไม่ถูก แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้าที่ค่ะ”

ในบางที เราก็อาจจะหลงลืมไปว่าการเป็นนักเรียนมัธยมมันเหนื่อยกว่าที่คิด แต่สิ่งหนึ่งที่น้องๆ วงตะแบกบานทำเสมอเมื่อเจอปัญหา คือ การนั่งล้อมวงคุยกัน แบ่งปันปัญหาที่เจอ แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่อย่างน้อยๆ เขาก็มั่นใจได้ว่าปัญหาเหล่านี้ พร้อมมีคนรับฟังเสมอ

อีกฝั่งของห้องประชุม เสียงดนตรีก็ยังไม่เงียบลง ครูดวงรัตน์เล่าให้เราฟังว่าแต่ละฝ่ายจะมีครูเฉพาะทางมาดูแล ครูนาฏศิลป์สำหรับนักเต้น ครูดนตรีสากลสำหรับนักดนตรี นอกจากนี้ ก็ยังมีการเชิญวิทยากรที่มีความสามารถเฉพาะทางมาให้ความรู้เพิ่ม บ้างก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ บ้างก็เป็นศิษย์เก่าที่เคยผ่านสนามแข่งมาหลายครั้ง

เมื่อช่วงเวลาพักเบรกมาถึง เหล่าน้องๆ นักดนตรีพากันไปตักน้ำแข็งใส่แก้ว เทน้ำหวาน หยิบขนมมาเติมพลัง ระหว่างรับประทานขนมจุกจิก หนึ่งในนักดนตรีก็เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงตารางการซ้อมที่เกิดขึ้นภายใต้ระยะเวลาที่มีจำกัด

“ส่วนมากรายการลูกทุ่งต่างๆ เขาจะกำหนดให้แข่งทั้งหมด 2 เพลง เป็นเพลงช้ากับเพลงเร็ว เราก็ต้องพยายามทำให้ดีทั้งคู่ เวลาซ้อมก็มีไม่เยอะ ประมาณเดือนสองเดือนเองค่ะ เริ่มจากแยกกันซ้อมตามประเภทเครื่องดนตรีก่อน แล้วก็มาเล่นรวมกัน พอเล่นรวมเสร็จ ก็มาดูรายละเอียดว่าแต่ละฝ่ายสามารถแก้อะไรได้บ้าง ค่อยๆ แก้กันไปทีละนิด มันก็จะค่อยๆ สมบูรณ์มากขึ้น”

“ยิ่งตอนชิงช้าสวรรค์ซ้อมหนักกว่าเวทีอื่นมาก ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นเวทีใหญ่ มีอัดนู่น อัดนี่ มีฉาก พร็อพ อลังการสุดๆ แถมเก็บตัวเยอะกว่าการแข่งเวทีอื่นมากๆ ช่วงนั้นคือเจอหน้าคนในวงแทบจะ 24 ชั่วโมงเลย ก่อนนอนก็เจอ ตื่นมาก็เจออีก” น้องๆ เล่าไป หัวเราะไป

แม้เรื่องราวที่เล่าจะมีแต่ประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ แต่แววตาสดใสของน้องๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้ต้องเจอสถานการณ์ลำบากแค่ไหน พวกเขาก็พร้อมที่จะผ่านมันไป หากมีกันและกัน

“วงตะแบกบานเป็นเหมือนครอบครัวไปแล้ว ทั้งนักร้อง แดนเซอร์ นักดนตรีสนิทกันหมดเลย”

“เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยค่ะ อย่างหนูเข้ามาในวงตั้งแต่ม.1 อยู่กับมันมานานมากๆ ลองไปคำนวณดู มันคือ 1 ส่วน 8 ของชีวิตเลย (หัวเราะ) ถ้าวันไหนไม่ได้เจอกัน ก็รู้สึกเหมือนขาดอะไรไป”

น้อง

เมื่อต้นตะแบกผลิดอกออกผลเป็นนักเรียนที่มากด้วยความสามารถ เต็มเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน ซึ่งหากใครได้พบเห็นคงอดไม่ได้ที่จะต้องเอาใจช่วยวงดนตรีลูกทุ่งประจำโรงเรียนศึกษานารีแห่งนี้ 

ฤดูผลิบาน

เรื่องราวดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ หรือครูโอ๋ เนื่องจากครูโอ๋เชื่อว่าลูกทุ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สมควรได้รับการเชิดชูไม่ต่างจากศิลปะแขนงอื่นๆ และที่สำคัญ เธอก็เชื่อว่าลูกทุ่งไม่จำเป็นต้องผูกโยงเข้ากับคำว่า ‘วัฒนธรรมไทย’ เสมอไป

“อย่างแรก เราต้องสร้างทัศนคติใหม่ต่อสังคมก่อนว่า ลูกทุ่งคือศิลปะธรรมดาประเภทหนึ่ง การที่เราชอบลูกทุ่ง ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนรสนิยมไม่ดี ไม่ใช่เรื่องหน้าอาย”

นอกจากนี้ ครูโอ๋ยังได้เสริมเพิ่มเติมอีกว่า สุดท้ายแล้ว ดนตรีลูกทุ่งคือสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราที่ถูกนำมาเล่าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึง สายลม แสงแดด ธรรมชาติ ความรัก หรือความเสียใจ การเกิดขึ้นของเวทีเหล่านี้ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนมาแสดงความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่ลูกทุ่งไทยยังไม่สามารถไปไกลได้เท่าที่ควร

จริงๆ ครูพูดได้เลยว่าลูกทุ่งคือคำว่า ซอฟต์ (Soft) แต่ยังไม่มีคำว่า พาเวอร์ (Power) มาต่อท้าย เพราะตอนนี้มันเป็นเพียงศิลปะที่รอใครสักคนมาหนุนให้มันไปข้างหน้า แต่ทั้งผู้ผลิตสื่อเอง รัฐบาลเอง ก็ยังทำให้ลูกทุ่งเป็นเพียงแค่วัฒนธรรมของต่างจังหวัด หรือยังติดแนวคิดว่าใครมาประกวดรายการลูกทุ่งจะต้องมาจากครอบครัวที่ยากจน ทั้งๆ ที่ศิลปะมันดีในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ผู้คนต่างหาก ที่กดศิลปะแขนงนี้ผ่านวาทกรรมต่างๆ อยู่เสมอ”

หากย้อนกลับมามองรายการลูกทุ่งต่างๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามักมาพร้อมกับความจน ความยากไร้ หรือความเป็นวัฒนธรรมไทยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการต้องมาแข่งร้องเพลงลูกทุ่งเพื่อชิงรางวัลไปประทังชีวิต รักษาสมาชิกครอบครัวที่ล้มป่วย หรือเพื่อปลดหนี้ 

“เวลาเราดูรายการเหล่านี้ ถ้าเด็กคนไหนมาร้องเพลงลูกทุ่ง เขามักจะให้ใส่ชุดนักเรียนมา แต่ถ้าเมื่อไหร่มีความสามารถอื่นๆ ก็จะได้ใส่ชุดน่ารักๆ ดูบ้านมีฐานะไปซะงั้น” ครูโอ๋เสริม

เมื่อหันมามองวงตะแบกบาน เราได้เห็นภาพความจริงตรงหน้าที่มีความแตกต่างกับภาพที่เคยเห็นในโทรทัศน์อย่างสิ้นเชิง นักเรียนกว่า 30 ชีวิต รวมถึงคุณครูและบุคลากรที่ช่วยผลักดันวง ขนความทะเยอทะยานมาเต็มเปี่ยม แววตาสดใส จนเชื่อว่าไม่ว่าเวทีไหน น้องๆ ตะแบกบานก็พร้อมฟันฝ่า

“ถ้าหนูจบมัธยมไป อยากให้วงตะแบกบานมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่กลับมา หนูจะได้อุ่นใจ (ยิ้ม) แต่ตราบใดที่มีลูกทุ่ง ก็จะมีวงตะแบกบานต่อไป เพราะหนูเชื่อว่าลูกทุ่งไม่มีวันตายค่ะ”

สมาชิกวงตะแบกบานคนหนึ่งกล่าว

สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากศิลปะลูกทุ่งได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทุกภาคส่วน วงดนตรีอย่างตะแบกบาน คงจะได้ผลิดอกออกผลอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ต้องรอฤดูผลิบาน

อ้างอิง

  1. ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์. อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวาทวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สัมภาษณ์, 17 กันยายน 2566.
  2. ดวงรัตน์ ชีววิวรรธน์. คุณครูวิชานาฏศิลป์และผู้จัดการวงตะแบนบาน โรงเรียนศึกษานารี. สัมภาษณ์, 20 ตุลาคม 2566.
  3. สมาชิกวงตะแบกบาน. นักเรียนโรงเรียนศึกษานารี. สัมภาษณ์, 17 กันยายน 2566.
  4. TODAY PLAY. (2565, 10 พฤศจิกายน). ‘ชิงช้าสวรรค์ 2022’ รอบรองชนะเลิศ ‘ชิงบัลลังก์’ 6 โรงเรียนสุดท้าย. https://workpointtoday.com/chingcha-sawan/.