Lifestyle Social Issue

‘ทนอยู่เพื่อลูก’ ผูกรั้งหรือพังความเป็นครอบครัว เมื่อการหย่าร้าง ไม่ใช่รอยด่างในชีวิต

‘การหย่าร้าง’ ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย เนื่องจากคำว่า ‘ครอบครัวสมบูรณ์’ ในฉบับของคนไทยนั้นประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก รวมถึงเกี่ยวเนื่องกับอีกหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยมองว่า การหย่าร้างเป็นตำหนิที่น่าอับอาย จุดด่างพร้อยในชีวิต และความล้มเหลวด้านครอบครัว นำมาสู่วาทกรรม ‘ทนอยู่เพื่อลูก’

เรื่อง : จุฬาลักษณ์ เดชะ
ภาพ : สุวรา สุเมธวานิชย์

“อดทนเพื่อลูกสิ”
“ถ้าเลิกกันแล้วลูกจะอยู่กับใคร”
“พ่อแม่เลิกกันเหรอ? ขอโทษที่ถามนะ”

‘การหย่าร้าง’ ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย เนื่องจากคำว่า ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์’ ในอุดมคติของคนไทยนั้นประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก ทำให้สามี-ภรรยาตัดสินใจไม่หย่าร้าง แม้จะมีปัญหาขัดแย้งกันมากมายก็ตาม

ในขณะเดียวกัน คู่สมรสยังต้องแบกรับความคาดหวัง และความกดดันจากสังคม เพราะสำหรับสังคมไทย ‘การหย่าร้าง’ ไม่ใช่เรื่องของคนสองคน ไม่ใช่แค่รักหรือไม่รัก แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับอีกหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยมองว่า การหย่าร้างเป็นตำหนิที่น่าอับอาย เป็นจุดด่างพร้อยในชีวิต และเป็นความล้มเหลวด้านครอบครัว นำมาสู่วาทกรรม ‘ทนอยู่เพื่อลูก’ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กที่เติบโตในครอบครัวหย่าร้างมักได้รับความสนใจจากสังคมภายนอก เสมือนว่าการเติบโตในครอบครัวที่หย่าร้างนั้นไม่ปกติ

‘พ่อ แม่ ลูก’ ภาพครอบครัวที่สมบูรณ์ตามฉบับสังคมไทย

“ภาพครอบครัวในอุดมคติที่สังคมไทยคาดหวัง ต้องประกอบไปด้วยพ่อที่เป็นผู้ชาย แม่ที่เป็นผู้หญิง และลูกอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน โดยมีญาติคนอื่นๆ อยู่ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้”

ดร.ปณิธี บราวน์
ดร.ปณิธี บราวน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยา

ดร.ปณิธี สุขสมบูรณ์ บราวน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงวาทกรรม ‘ทนอยู่เพื่อลูก’ อันเชื่อมโยงกับประเด็นหย่าร้างในสังคมไทย โดยระบุว่า ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เรืองอำนาจในยุคสมัยใหม่ ก่อให้เกิดการจัดแบ่งความแตกต่างระหว่างหญิง-ชายจากสรีระร่างกาย จากนั้นสังคมจึงกำหนด ‘การแบ่งงานตามเพศ’ โดยใช้ร่างกายเป็นตัวกำหนด เช่น ผู้ชายร่างกายแข็งแรงกว่า ผู้ชายจึงควรเป็นผู้นำ และหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ส่วนผู้หญิงตัวเล็กกว่า ผู้หญิงจึงควรมีบทบาทเป็นผู้ตาม และเนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดบุตร สังคมจึงมองว่า ผู้หญิงจะต้องทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร 

แนวคิด ‘การแบ่งหน้าที่ตามเพศกำเนิด’ ของหญิงและชาย มีอิทธิพลต่อมุมมอง ‘ความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ’ ในสังคมไทย เนื่องจากแนวคิดนี้นำไปสู่ความคาดหวังว่า ในครอบครัวหนึ่งจะต้องประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูก เพราะพ่อจะทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว และแม้ผู้เป็นแม่จะทำงานนอกบ้าน แต่สังคมก็ยังคงคาดหวังให้แม่มีหน้าที่ดูแลลูกเป็นหลัก เพราะแม่เป็นผู้ให้กำเนิดบุตร 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง สังคมไทยเริ่มเปิดกว้าง ในการทำความเข้าใจถึงภาพของครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อชีวิตคู่ไปต่อไม่ได้ การหย่าร้างอาจเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสม ในขณะที่ผู้หญิงเองก็ได้รับการศึกษามากขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองในทางเศรษฐกิจได้ ต่างจากในอดีตที่ผู้หญิงต้องพึ่งพาสามี จึงจำเป็นต้องทนอยู่แม้จะอยากเลิกก็ตาม ปัจจุบันผู้หญิงจึงมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์หย่าร้างในสังคมได้ไม่ยากนัก  

ถึงกระนั้น การหย่าร้างในสังคมไทยก็มิใช่ภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย แต่ยังมีเงื่อนไขหลายอย่างที่คู่สมรสต้องพิจารณา เช่น หากหย่ากันแล้วครอบครัวและลูกจะเป็นอย่างไร ดังนั้นแม้จะมีปัญหากัน คู่สมรสก็ยังคงต้องอดทน และประคับประคองความสัมพันธ์ แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วยังไปต่อไม่ได้ จึงตัดสินใจหย่าร้าง 

“สังคมเชื่อว่ามีการแบ่งงานตามเพศในครอบครัว ดังนั้นถ้าขาดพ่อ หรือแม่ไปคนใดคนหนึ่ง ครอบครัวจะอยู่ไม่ได้ ส่งผลให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนอาจต้องทนอยู่เพื่อลูก เพื่อให้ครอบครัวสมบูรณ์แบบ วาทกรรมทนอยู่เพื่อลูกจึงถูกผูกไว้กับ 2 แนวคิดหลัก ได้แก่ ครอบครัวในอุดมคติ และการแบ่งงานตามเพศกำเนิด”

ดร.ปณิธี บราวน์

หน้าที่ของผู้หญิงในสังคมเอเชียคือการดูแลครอบครัว ซึ่งในที่นี้คือการดูแลทั้งงานบ้าน  สามีและลูก รวมถึงมิติของการดูแลในเชิงจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกด้วย เพราะฉะนั้นหากมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในครอบครัว ความคาดหวังจะตกที่ผู้หญิง เช่น แม่จะต้องเป็นกาวใจระหว่างพ่อและลูก  หรือหากชีวิตคู่มีปัญหา ผู้หญิงจะต้องอดทนเพื่อลูก เพื่อให้ลูกเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้า เนื่องจากสังคมเชื่อว่า ผู้หญิงมีสัญชาตญาณความเป็นแม่

โรงเรียนปลูกฝังแนวคิดบทบาททางเพศ กล่อมเกลาความเป็นครอบครัวต้นแบบ

งานวันแม่ที่จัดขึ้นโดยโรงเรียน ภาพจากโรงเรียนบ้านโพนตูมหนองแสง

“ในงานวันพ่อ งานวันแม่ เด็กอาจจะรู้สึกขาดที่พ่อแม่ไม่ได้มางานโรงเรียน”

ดร.ปณิธี บราวน์

ปณิธีชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษามักสร้างภาพ ‘ความเป็นครอบครัวอุดมคติ’ ผ่านการจัดงานวันพ่อหรือแม่ที่โรงเรียน ถือเป็นการผลิตซ้ำภาพครอบครัวในอุดมคติ ซึ่งไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงอันหลากหลายของครอบครัว ส่งผลให้เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่รู้สึกว่าครอบครัวของตนเองนั้นบกพร่อง หรือแตกต่างจากครอบครัวของเพื่อนคนอื่น

จากข้อมูลของ PPTV Online เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ชี้ว่า “การจัดกิจกรรมในลักษณะกระตุ้นความสัมพันธ์ และความรักในครอบครัวย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่มีผู้ปกครองมาร่วมงาน เพราะตามพื้นฐานจิตใจ ทุกคนย่อมอยากมีพ่อแม่คอยดูแล โดยผลกระทบหลักๆ ที่เกิดขึ้น แบ่งออกได้ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.ไม่รู้สึกอินกับกิจกรรม การมองเห็นเพื่อนๆ รอบข้างแสดงความรักต่อผู้ปกครองในขณะที่ตนไม่มี ย่อมทำให้เกิดการเบื่อหน่ายหรือไม่ชอบ และ 2.นึกถึงเหตุการณ์ในอดีต โดยอาจเกิดขึ้นในลักษณะการตั้งคำถาม ว่าทำไมชีวิตของตนเองไม่เหมือนเพื่อนๆ หรือย้อนนึงถึงเหตุการณ์สูญเสียพ่อแม่ ซึ่งทั้งสองประเด็นอาจนำไปสู่การสร้างปมภายในจิตใจ”

นอกจากนี้ แม้ในแบบเรียนที่กล่าวถึง ‘ครอบครัว’ จะไม่ได้บอกโดยตรงว่าครอบครัวที่ดีต้องเป็นอย่างไร แต่มีการนำเสนอภาพครอบครัวในอุดมคติที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก อีกทั้งยังกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของพ่อ แม่ และลูกที่แตกต่างกัน ตามบทบาททางเพศ (Gender role) ซึ่งเปรียบเสมือนการกล่อมเกลาความคิดของเด็กโดยที่เด็กไม่รู้ตัว

ปณิธีเสนอว่าโรงเรียนควรสอดแทรกเนื้อหาเรื่องความหลากหลายของครอบครัว เพื่อให้เด็กไม่มองว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ยังมีครอบครัวรูปแบบอื่นๆ อาทิ ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวหญิงรักหญิง ครอบครัวชายรักชาย หรือครอบครัวคนโสดที่ไม่มีคู่สมรสด้วยเช่นกัน รวมถึงไม่ตัดสินครอบครัวคนอื่นที่แตกต่างจากครอบครัวตนเอง

สื่อตอกย้ำภาพจำครอบครัวอุดมคติ เด็กมีปัญหาเพราะพ่อแม่หย่าร้างกัน

ปณิธี กล่าวว่า การหย่าร้างส่งผลกระทบต่อลูกได้ไม่มากก็น้อย แต่การนำเสนอภาพของเด็กที่มีปัญหา หรือมีปมในใจ จากเหตุดังกล่าวนั้นเป็นการตอกย้ำสังคมว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวหย่าร้างนั้นเป็นเด็กที่น่าสงสาร ขาดความอบอุ่น และต้องการความเห็นใจจากผู้อื่น ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

“ภาพจำของลูกในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกันยังคงถูกผลิตซ้ำในรูปแบบเดิม นั่นคือลูกกลายเป็นเด็กใจแตก เพราะยอมรับไม่ได้ที่พ่อแม่จะเลิกกัน สื่ออาจจะต้องเปลี่ยนภาพแล้วว่า เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่สิ้นสุดชีวิตคู่ เขาก็ดำเนินชีวิตได้ปกติ”

ละครเรื่อง ‘เกมรักทรยศ’ ขณะที่พ่อแม่กำลังทะเลาะกันเรื่องการหย่า แต่ลูกชายคนโตกลับไม่พยายามทำความเข้าใจการกระทำของแม่ และบทสรุปของตัวละครนี้ก็จบลงตรงที่เขาตัดสินใจหนีไปจากพ่อแม่โดยไม่บอกลา
ละครเรื่อง ‘เมีย2018’ ตัวละครลูก ‘นุดา’ ขว้างกล่องดินสอเพื่อนออกนอกหน้าต่าง โดยให้เหตุผลว่า เพราะเพื่อนโอ้อวดว่ากล่องดินสอนี้พ่อซื้อให้ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพ่อแม่ของนุดาแยกทางกัน

ปณิธีอธิบายว่า วันหนึ่งที่ลูกรู้ว่าพ่อแม่จะสิ้นสุดชีวิตคู่ จะมีผลกระทบเกิดขึ้นทั้งต่อลูก และพ่อแม่เอง ซึ่งละครหรือสื่อมักนำเสนอเพียงจุดวิกฤตหรือจุดเปลี่ยน (turning point) เพื่อความบันเทิงเชิงอารมณ์ แต่กลับไม่นำเสนอเพิ่มเติมจากเดิม นั่นคือเมื่อเวลาผ่านไป สุดท้ายเด็กอาจจะปรับตัว และอยู่ในครอบครัวในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือพ่อแม่อาจจะกลับมาคุยกันฉันมิตรในอนาคต

นอกจากนี้ สื่อโฆษณายังมักนำเสนอภาพความกลมเกลียวในครอบครัว เช่น พ่อแม่ลูกเล่นด้วยกัน หรือแฝงแนวคิดบทบาททางเพศในโฆษณา ซึ่งมักใช้ผู้หญิงในโฆษณาที่ขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับของใช้ในบ้าน เช่น ในโฆษณาผงซักฟอก แม่มักเป็นผู้ซักผ้าและใช้ผงซักฟอกนั้น หรือโฆษณาที่นำเสนอภาพแม่กำลังอาหารอยู่ในครัว พ่อเล่นกับลูก และเมื่อแม่ทำอาหารเสร็จก็เรียกพ่อและลูกมารับประทานอาหารด้วยกัน การนำเสนอภาพครอบครัวอุดมคติเช่นนี้ ส่งผลให้สังคมจดจำและมองว่าครอบครัวที่จะมีความสุขนั้นจำเป็นต้องมีพ่อแม่ลูกอยู่พร้อมหน้ากัน

สื่ออาจจะนำเสนอภาพของครอบครัวในรูปแบบเดิมก็ได้ แต่ควรนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งด้วย เช่น นำเสนอภาพครอบครัวในลักษณะระยะยาว เพื่อสะท้อนว่า การหย่าร้างเป็นเพียงบันไดก้าวหนึ่งของครอบครัว สุดท้ายแล้วปัญหาต่างๆ จะถูกคลี่คลายลง เพื่อทำให้ผู้ชมเห็นว่า ความหลากหลายของครอบครัวคือเรื่องปกติ และครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกนั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของครอบครัว อันนำไปสู่การสร้างความเข้าใจ และความตระหนักรู้ให้แก่สังคม

‘เรื่องในครอบครัว’ เมื่อกลไกกฎหมายเชิดชูการประนีประนอม

“เรื่องของผัวเมียอย่าไปยุ่ง”
“เรื่องในครอบครัวก็ปล่อยให้เป็นเรื่องในครอบครัว อย่าไปสาวไส้ให้กากิน”
“ความในอย่านำออกความนอกอย่านำเข้า”

ปณิธีชี้ว่า คำพูดข้างต้นทำให้ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากมุมมองเช่นนี้ของสังคมทำให้ผู้หญิง เด็ก หรือแม้กระทั่งผู้ชายที่เผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัวนั้นไม่กล้าก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ แม้พวกเขาจะต้องการยุติชีวิตคู่ลงก็ตาม

มุมมองดังกล่าวมักแฝงอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น กรณีที่เกิดความรุนแรงในครอบครัวแล้วไปแจ้งความที่โรงพัก ผู้บังคับใช้กฎหมายยังคงยึดถือ ‘การประนีประนอม’ บนฐานความเชื่อที่ว่า สามีภรรยาก็เหมือนลิ้นกับฟัน อาจกระทบกระทั่งกันบ้าง หรืออย่าไปยุ่งเรื่องของครอบครัวคนอื่น ส่งผลให้กลไกในเชิงกระบวนการจึงมักมีลักษณะของการให้ประนีประนอม ทำให้ภาพของ ‘การอดทนอยู่เพื่อครอบครัว’ ยังดำเนินอยู่ต่อไป 

จากการรายงานของ TODAY เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 วรรณกนก  เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะแกนนำกลุ่มลูกเหรียง กล่าวว่า “มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง โดยผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญสามปัญหา”

ซึ่งหนึ่งในปัญหา ได้แก่ “สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวสูง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น กรณีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว คนนอกไม่ควรยุ่ง ขณะที่มีผู้หญิงจำนวนมากกล้าหาญไปขอความยุติธรรมจากหน่วยงาน แต่จะถูกบอกว่าให้อดทน”

จากการรายงานสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานด้านกฎหมายของภาครัฐยังคงมองว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเพียงเรื่องในครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องจัดการด้วยกฎหมาย ทั้งยัง ตอกย้ำให้ผู้หญิงซึ่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวจำต้องอดทนต่อไป

การทนอยู่ นำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรง และผลกระทบเชิงลบต่อลูก

“เมื่อไรก็ตามที่มีการใช้ความรุนแรงมันจะไม่มีทางเบาลง มีแต่จะแรงขึ้น และเกิดขึ้นซ้ำ”

ดร.ปณิธี บราวน์

เมื่อมีการทนอยู่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งตามมา ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด กลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อในครอบครัวและยิ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อลูก เนื่องจากลูกต้องเติบโตท่ามกลางบรรยากาศที่อึดอัด ตึงเครียด และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง รวมถึงต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางร่างกาย วาจา จิตใจ และอารมณ์

การทนอยู่เช่นนี้อาจไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้เด็กเติบโตได้ดีขึ้น ปณิธีกล่าวถึงงานวิจัยที่ระบุว่า เมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัวแล้ว ความรุนแรงนั้นจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในระดับที่มากขึ้น เช่น ตอนแรกอาจเริ่มต้นด้วยการด่าทอ ต่อมาอาจเขย่าตัว และตบตี ไปจนถึงบีบคอคู่สมรส

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ผู้หญิงถึงร้อยละสามสิบเลือกที่จะอดทนกับความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ด้วยเหตุผลของความอับอาย การอดทนเพื่อลูก กลัวถูกทำร้ายร่างกายซ้ำ รวมถึงไม่ทราบช่องทางขอความช่วยเหลือ” จเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวในรายงานของ Thai PBS เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556

ดังนั้น การตัดสินใจหย่าร้างกันอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะนอกจากจะทำให้สามีภรรยามีสุขภาพใจและสุขภาพกายที่ดีแล้ว ยังส่งผลดีต่อการดูแลบุตรอีกด้วย โดยปณิธีมองว่าพ่อแม่สามารถอธิบายให้ลูกเข้าใจได้ เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมไทยมีความหลากหลายของรูปแบบครอบครัวมากขึ้น และเด็กสามารถเข้าถึงสื่อมากมาย อาจบอกกับลูกได้ว่า แม้พ่อแม่จะสิ้นสุดชีวิตคู่ลง แต่ความเป็นพ่อเป็นแม่ยังคงมีให้ลูกอยู่

ทางออกทางกฎหมายเพื่อเอื้อครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

“สังคมมีภาพเหมารวมว่าครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นครอบครัวที่มีปัญหา การมองเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากการหยิบไม้บรรทัดของสังคมอย่างภาพครอบครัวในอุดมคติ ไปวัดครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว แล้วบอกว่าไม่เหมือนไม้บรรทัดหรือความคาดหวังของเราเลย … แม้แต่สียังมีหลายเฉด แล้วทำไมการใช้ชีวิตของมนุษย์ด้านครอบครัวจะมีหลากหลายรูปแบบไม่ได้”

ดร.ปณิธี บราวน์

ปณิธีเห็นว่า คนไทยไม่ควรใช้เพียงรูปแบบหนึ่งของครอบครัวมาตัดสินครอบครัวทั้งหมด ซึ่งมีความหลากหลาย  เพราะครอบครัวในอุดมคติไม่ใช่ครอบครัวที่ดีที่สุด และครอบครัวที่แตกต่างจากครอบครัวอุดมคติก็ไม่ใช่ครอบครัวที่แปลก แต่เป็นครอบครัวอีกรูปแบบหนึ่ง

ทั้งนี้ ภาครัฐควรช่วยเหลือครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในเชิงกฎหมาย เช่น หากมีการฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูเกิดขึ้น และศาลสั่งว่าพ่อต้องส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้ลูกทุกเดือน ควรจะต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยเรื่องการบังคับคดี เพื่อให้พ่อส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ทุกเดือนจริงๆ ไม่ใช่ส่งเงินค่าเลี้ยงดูเพียงไม่กี่เดือน แล้วก็หายไป รวมทั้งควรปลูกฝังความรับผิดชอบต่อครอบครัว แม้ชีวิตครอบครัวจะสิ้นสุดแล้ว แต่พ่อแม่ยังมีหน้าที่ดูแลลูกและส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้ลูก ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพ่อแม่ 

จากบทความ ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเลี้ยงชีพและการเปลี่ยนแปลงค่าเลี้ยงชีพภายหลังการสมรสสิ้นสุดลง ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จิระฐิติ กะการดี นักศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่าวิธีการของศาลไทยนี้ ต่างจากหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเลี้ยงชีพตามกฎหมายของประเทศอื่นๆ อย่างประเทศอังกฤษให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งข้อกำหนดทางการเงินในการกำหนดจำนวนเงิน และวิธีการชำระเงิน ส่วนในสหรัฐอเมริกา หากมีการร้องขอเรียกค่าเลี้ยงชีพต่อศาล ตามพระราชบัญญัติคำร้องขอค่าเลี้ยงชีพ ศาลจะเป็นผู้กำหนดจำนวนค่าเลี้ยงชีพ และวิธีการจ่ายค่าเลี้ยงชีพไว้ในคำตัดสิน นอกจากนี้ ประเทศแคนาดายังให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการกำหนดจำนวนค่าเลี้ยงชีพ และวิธีการชำระค่าเลี้ยงชีพด้วยเช่นกัน

จิระฐิติ สรุปว่า “สามารถแก้ไขปัญหาและป้องกันการไม่ชำระค่าเลี้ยงชีพตามกำหนดนัดได้ โดยให้ศาลเข้าไปมีบทบาทในการใช้ดุลพินิจในการกำหนดวิธีการชำระค่าเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่นแต่แรก ดังเช่นกฎหมายของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ที่กำหนดให้ศาลเป็นผู้กำหนดวิธีชำระค่าเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่นได้ นอกจากวิธีชำระเป็นเงินเป็นครั้งคราวตามกำหนด”

เด็กควรรับมืออย่างไร เมื่อพ่อแม่ยุติความสัมพันธ์

ปณิธีกล่าวว่า หากจะพิจารณาเด็กที่เติบโตในครอบครัวแยกทางกันว่าเด็กจะรู้สึกอย่างไรหรือควรรับมืออย่างไรนั้น จำเป็นต้องพิจารณาช่วงวัยของเด็กและเงื่อนไขอื่นๆ ของครอบครัว เช่น สถานะทางเศรษฐกิจ ขนาดครอบครัว หรือลักษณะปัญหาของครอบครัว ทำให้วิธีการรับมือจึงแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว

แน่นอนเด็กบางคนที่พ่อแม่แยกทางกันก็มีปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน เด็กบางคนที่อยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้าก็มีปัญหาเช่นกัน สังคมจึงไม่ควรเหมารวมว่าเด็กที่พ่อแม่แยกทางกันจะต้องเป็นเด็กที่มีปัญหา สังคมเองที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติ และไม่ทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกว่า ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวที่มีปัญหา

สภาพสังคมยังเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน รูปแบบครอบครัวก็ไม่อาจหยุดนิ่งเหนือกาลเวลา ดังนั้น  ครอบครัวที่สมบูรณ์ที่สุด จึงไม่ใช่เพียงครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อที่เป็นผู้ชาย แม่ที่เป็นผู้หญิง และลูกอาศัยอยู่ร่วมกัน การเปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายของรูปแบบครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้อง ‘ทนอยู่เพื่อลูก’ หรือแบกรับความคาดหวังจากสังคมภายนอก อาจเป็นทางออกที่ดีแก่ทุกฝ่าย

ทั้งนี้เพียงแค่สิ้นสุดบทบาทสามีภรรยา มิได้ละทิ้งบทบาทพ่อและแม่ของลูก 

อ้างอิง

  1. จิระฐิติ กะการดี. (2558-2559).  ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเลี้ยงชีพและการเปลี่ยนแปลงค่าเลี้ยงชีพภายหลังการสมรสสิ้นสุดลงวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์4, 55-66. https://grad.dpu.ac.th/upload/content/files/%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%204%20%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%202%20%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%202558%20-%20%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%202559/vol4-2-6.pdf
  2. ช่อง one31. (2566, 11 ตุลาคม). ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว เพราะพ่อแม่แยกทางกัน | Highlight Ep.16 เมีย2018 | 11 ต.ค. 66 | one31 [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=4oEwSuEO_nk
  3. ปณิธี บราวน์. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สัมภาษณ์, 26 ตุลาคม 2566.
  4. โรงเรียนบ้านโพนตูมหนองแสง. (2566, 11 สิงหาคม). กิจกรรมวันแม่แห่งชาติ ปีการศึกษา 2566. https://ptns.ac.th/2023/08/11/7415/
  5. Ch3Thailand. (2566, 12 ตุลาคม). พี่พัชร์เขาบอกว่า เขาจะไม่กลับมาแล้ว | เกมรักทรยศ ตอนจบ. https://www.facebook.com/watch/?v=1013433839897299
  6. PPTV Online. (2566, 4 สิงหาคม). มุมมองอีกด้าน “วันแม่ 2566” กิจกรรมวันแม่กระทบจิตใจเด็กเลี้ยงเดี่ยว. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C/32269
  7. Thai PBS. (2556, 14 พฤศจิกายน). มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบ หญิงไทยจำนวนหนึ่ง ยอมรับความรุนแรงในครอบครัว. https://www.thaipbs.or.th/news/content/206882
  8. TODAY. (2565, 8 มีนาคม). หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ – กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คน/วัน ขณะหญิงชายแดนใต้ถูกลิดรอนจำกัดสิทธิ ไร้ปากเสียง. https://workpointtoday.com/news-673/