Art & Culture Economy Top Stories

“วงการหนังสือไทย” ต้องดิ้นรนต่อไป โดยไร้ใครเหลียวแล?

เมื่อทางออกของปัญหาต้องพึ่งพามากกว่าคนทำหนังสือ

เรื่อง : คนิสรา สุวรรณฉัตร
ภาพ : คนิสรา สุวรรณฉัตร

ต้นทุนในการอ่านหนังสือสูงขึ้นท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจอันผันผวน จึงไม่แปลกหากนักอ่านหลายท่านจะเลือกรัดเข็มขัด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น มากกว่าการเลือกซื้อหนังสือสักเล่มที่อาจทำให้อิ่มใจแต่ไม่อาจทำให้อิ่มท้อง มูลค่าทางเศรษฐกิจของวงการหนังสือจึงค่อย ๆ ถดถอยจากที่เคยสูงถึง 29,500 ล้านบาทในปี 2557 กลับเหลือเพียง 12,500 บาทในปี 2564

“ด้วยพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนอ่านหนังสือเล่มลดลง อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้หนังสือที่จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยก็มียอดขายลดลงไปด้วย” ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (The Publishers and Booksellers Association of Thailand: PUBAT) กล่าว

ทิพย์สุดา-สินชวาลวัฒน์-นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์-PUBAT
ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (The Publishers and Booksellers Association of Thailand: PUBAT)
ให้สัมภาษณ์กับ “นิสิตนักศึกษา”

สถานการณ์โควิด: ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของวงการหนังสือ

ปัญหาใหญ่ที่เกือบทุกสำนักพิมพ์ต้องเผชิญร่วมกันมาโดยตลอดคือปัญหาราคากระดาษที่ใช้ในการพิมพ์  เมื่อประเทศไทยมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ เยื่อกระดาษถูกจัดสรรปันส่วนให้กับการผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้โรงพิมพ์ต้องนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศ ทว่าปัญหาระดับนานาชาติอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ต้นทุนกระดาษจึงสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30

“ในแต่ละปีราคากระดาษย่อมสูงขึ้นตามกลไกตลาด แต่เพิ่งจะมีผลกระทบหนัก เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา ผลกระทบจากสงคราม หรือโควิดก็ตาม โรงพิมพ์สั่งกระดาษมาได้น้อยลงต้องอาศัยเท่าที่มีอยู่ ในขณะที่สำนักพิมพ์มีความต้องการพิมพ์สูงขึ้น จึงเกิดเป็นปัญหาที่พัวพันกัน” ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอน กล่าว

ปฏิกาล-ภาคกาย-บรรณาธิการ-สำนักพิมพ์แซลมอน
ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอน ให้สัมภาษณ์กับ “นิสิตนักศึกษา” 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้แต่ละโรงพิมพ์ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน เล่าถึงสถานการณ์ของโรงพิมพ์ภายในเครือของมติชนว่า ในช่วงที่มีการระบาดหนักกระบวนการพิมพ์ต้องล่าช้า เพราะแรงงานไม่เพียงพอ เมื่อมีคนติดโควิด-19 พนักงานคนอื่นจำเป็นต้องทำงานทดแทน เกิดเป็นปัญหาภาระงานในโรงพิมพ์ที่ล้นเอ่อ

มณฑล-ประภากรเกียรติ-ผู้จัดการ-สำนักพิมพ์มติชน
มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ให้สัมภาษณ์กับ “นิสิตนักศึกษา”
ที่มา: มติชนออนไลน์ 

ไม่เพียงการผลิต แต่การจัดจำหน่ายก็กำลังเผชิญกับปัญหา เมื่อไม่สามารถออกจากบ้านได้ในช่วงโรคระบาด ประชาชนจึงหันไปซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์แทน จากผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ปี 2565 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เมื่อเทียบกับสถิติเมื่อปี 2562 แล้วพบว่าผู้อ่านหันมาเลือกซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 ในขณะที่ตัวเลขการซื้อผ่านเว็บไซต์ของร้านหนังสือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เช่นเดียวกัน

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เล่าว่าโดยปกติแล้วหนังสือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคไม่นิยมซื้อออนไลน์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสภาพของตัวเล่ม แต่โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสั่งหนังสือโดยตรงกับสำนักพิมพ์ทำให้หนังสือบางเล่มอย่าง Harry Potter มียอดสั่งซื้อหลักล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้นับว่าเป็นไปได้ยากที่ผู้อ่านจะสั่งซื้อแบบพรีออเดอร์เป็นจำนวนมากขนาดนี้

ในขณะที่ตลาดหนังสือออนไลน์กำลังเติบโตมากขึ้น ร้านหนังสือกลับยิ่งตายจาก ไม่ว่าจะร้านใหญ่หรือร้านเล็กล้วนต่างประสบปัญหา จากที่ปี 2551 ประเทศไทยเคยมีร้านหนังสือมากถึง 2,483 แห่งทั่วประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันเหลือเพียง 800 แห่งเท่านั้น เนื่องด้วยพฤติกรรมนักอ่านที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปสั่งหนังสือทางออนไลน์หรือการเปลี่ยนไปอ่าน E-Book อีกทั้งร้านหนังสืออิสระไม่สามารถลดราคาได้เทียบเท่าร้านหนังสือเจ้าใหญ่หรืองานหนังสือ ผู้บริโภคจึงหันไปซื้อจากช่องทางที่ถูกกว่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่รวมไปถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอุตสากรรมหยุดชะงักลง

ซึ่งการที่ร้านหนังสือปิดตัวลงไปกว่า 1,683 แห่งนั้นไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับเหล่าเจ้าของกิจการเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังรวมไปถึงประชาชนอีกหลายล้านคนที่ถูกสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงหนังสือด้วยเช่นกัน แม้การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในยุคปัจจุบัน แต่ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จากเว็บไซต์ DataReportal ระบุว่าปี 2020 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 52 ล้านคน แต่นั่นหมายความว่ามีประชากรกว่า 14 ล้านคนที่ไม่สามารถซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ยังไม่รวมไปถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ทราบวิธีสั่งสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นเหล่านักอ่านจำนวนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาร้านหนังสือหรือห้องสมุดในชุมชน

บรรยากาศการเลือกซื้อหนังสือ-มหกรรมหนังสือระดับชาติ-2565-ทดลองอ่าน
บรรยากาศการเลือกซื้อหนังสือในมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2565 
ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองอ่านประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ

สอดคล้องกับแนวคิดของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่ขึ้นข้อความขนาดใหญ่หน้าเว็บไซต์ว่า “โปรดซื้อหนังสือจากร้านหนังสือ เพื่อให้ระบบหนังสือของชาติเติบโตยั่งยืน” เนื่องจากสำนักพิมพ์เชื่อว่าหากนักอ่านซื้อหนังสือออนไลน์ เขาอาจจะได้หนังสือที่ต้องการหนึ่งเล่ม แต่หากนักอ่านไปซื้อหนังสือที่หน้าร้านหนังสือ เขาอาจจะได้หนังสือเล่มอื่นไปอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกลับไปอ่าน หรือเปิดอ่านในร้านหนังสือก็ตาม สำนักพิมพ์จึงเน้นการขายผ่านหน้าร้านมาโดยตลอด

“เพราะถ้าร้านหนังสืออยู่ได้ รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องสร้างห้องสมุดจำนวนมาก” มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ กล่าวถึงบทบาทของร้านหนังสือในการเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาเลือกอ่านจนกว่าจะตัดสินใจซื้อ คล้ายเป็นห้องสมุดกลาย ๆ โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องสร้างห้องสมุดให้ครอบคลุมทุกอำเภอในประเทศซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล  เพราะต้องสร้างอาคารราคาประมาณ 5 ล้านบาท ซื้อหนังสืออีก 2 ล้านบาท และจ่ายค่าจ้างพนักงาน ในขณะที่การมีร้านหนังสืออิสระที่ประชาชนเป็นเจ้าของนั้นสร้างการกระจายรายได้ และกระจายหนังสือสู่นักอ่านในชุมชนได้มากกว่า

“ระบบหนังสือนั้นไม่ใช่การพิมพ์เพื่อขายเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ การกระจายหนังสือไปสู่ผู้อ่านด้วย” มกุฏเล่าเสริม

มกุฏ-อรฤดี-บรรณาธิการบริหาร-สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ให้สัมภาษณ์กับ “นิสิตนักศึกษา”

หรือวงการหนังสือไทยไม่อาจไร้งานหนังสือ?

ในทุก ๆ ปีประเทศไทยจะมีการจัดงานหนังสือครั้งใหญ่ 2 ครั้งโดย PUBAT ได้แก่ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในทุก ๆ ต้นปี และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในทุก ๆ ปลายปี ความสำคัญของงานหนังสือเหล่านี้คือเป็นทั้งตลาดหนังสือให้ประชาชนได้ซื้อหนังสือในราคาที่ถูกกว่าปกติ และเป็นพื้นที่ให้เหล่านักอ่าน-นักเขียนได้พบปะกัน นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เสริมว่างานหนังสือสร้างรายได้ให้กับบางสำนักพิมพ์กว่า 1 ใน 5 ของรายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นงานที่ช่วยสำนักพิมพ์ขนาดเล็กซึ่งไม่มีกำลังจ่ายค่าสายส่งกว่าร้อยละ 45 ของราคาปก ให้มีโอกาสขายหนังสือได้โดยตรง

“ในส่วนของนักอ่าน การไปเดินงานหนังสือจะทำให้พวกเขาได้สัมผัสกับหนังสือที่หลากหลายขึ้น ซึ่งทำให้นักอ่านได้เปิดโลกแล้วรู้จักหนังสือหลากหลายแนวมากยิ่งขึ้น” ทิพย์สุดาเสริม

เมื่อมีโควิด-19 แพร่ระบาดทำให้งานหนังสือที่คอยค้ำจุนวงการจำเป็นต้องเปลี่ยนไปจัดในรูปแบบออนไลน์ถึง 2 ปีเต็ม ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสำนักพิมพ์เป็นอย่างมาก ปฏิกาล เล่าถึงปัญหาที่สำนักพิมพ์แซลมอนต้องเผชิญต่อสถานการณ์ดั่งกล่าวว่า ในช่วงเวลานั้นสำนักพิมพ์ไม่สามารถวางแผนเกี่ยวกับงานหนังสือล่วงหน้า เพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด ทั้งยังทำให้สำนักพิมพ์ขาดโอกาสในการได้รับเงินโดยตรงจากการขายในงานหนังสืออันต่างจากการขายหนังสือตามเว็บไซต์หรือร้านค้าซึ่งอาจจำเป็นต้องรอรอบบิล 60-90 วัน หลังจากวันที่ขายหนังสือได้ นอกจากนี้งานหนังสือแบบออนไลน์นั้นก็ทำรายได้ไม่สูงเท่าการออกบูธ

บรรยากาศการเลือกซื้อหนังสือ-มหกรรมหนังสือระดับชาติ-2565-หนังสือเก่า
บรรยากาศการเลือกซื้อหนังสือเก่า ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2565
ซึ่งเป็นหมวดหนังสือที่ได้รับความนิยมมากในทุก ๆ ปี

“ปฏิเสธไม่ได้ว่างานหนังสือ เป็นหนึ่งในช่องทางหาเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตในสำนักพิมพ์ ยังไม่มีช่องทางไหนที่จะหล่อเลี้ยงสำนักพิมพ์ได้โดยไม่ต้องไปงานหนังสือ แม้เราจะเข้าใจว่างานหนังสือนั้นไม่ใช่วงจรที่ดี แต่มันก็ยังจำเป็นอยู่ ณ เวลานี้” บรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอนเสริม

ปัญหาเรื่องรูปแบบของการจัดงานงานหนังสือเป็นข้อถกเถียงที่หลายสำนักพิมพ์หยิบยกมาพูดคุยกันบ่อยครั้ง มณฑลกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า รูปแบบของงานหนังสือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรมีการเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์หรือผู้อ่านเองต่างยึดติดกับการซื้อขายที่เกิดขึ้นเพียงปีละ 2 ครั้ง จึงเป็นความท้าทายของวงการหนังสือว่าจะทำเช่นไรให้อุตสาหกรรมเติบโตต่อไปได้โดยไม่พึ่งพางานเหล่านี้ หรือทำเช่นไรที่งานหนังสือจะให้อะไรมากกว่าแค่เป็นตลาดขายหนังสือ

หากมองไปยังงาน Frankfurter Buchmesse หรือ Frankfurt Book Fair ของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานจัดแสดงหนังสือระดับโลก พบว่ามีรูปแบบการจัดงานที่มุ่งเน้นการจัดแสดงหนังสือ ทั้งเพื่อเปิดตัวหนังสือใหม่หรือเพื่อซื้อ-ขายลิขสิทธ์ระหว่างประเทศ ไม่เพียงสำนักพิมพ์ แต่ยังมีบริษัทที่ให้บริการด้านการพิมพ์เข้าร่วมด้วย ซึ่งประเทศไทยเองได้มีการส่งตัวแทนไปเข้าร่วมเพื่อเป็นผู้แนะนำหนังสือจากสำนักพิมพ์ไทยในทุก ๆ ปี งานหนังสือของเยอรมนีจึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในวงการหนังสือมากกว่าตลาดซื้อขาย เป็นที่น่าสนใจว่า ภายในงานนี้มีการแปะข้อความว่า “Support Your Local Bookshop” ซึ่งชวนเชิญให้คนหันไปซื้อหนังสือตามร้านหนังสือในชุมชนมากกว่า เพื่อเป็นการกระจายรายได้และกระจายหนังสือสู่สังคม

“ตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดไม่ได้อยู่ที่ศูนย์สิริกิติ์ แต่อยู่ที่คนอีก 64 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสไปงานหนังสือ”

มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

แต่สำหรับประเทศไทย สำนักพิมพ์จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากงานหนังสือ รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้เหล่านักอ่านมีกำลังซื้อน้อยลง พวกเขาจึงเลือกซื้อหนังสือจากงานหนังสือหรือร้านค้าออนไลน์ที่มีโปรโมชั่นทำให้ได้หนังสือในราคาถูกกว่าหน้าปก ดังนั้นเมื่อการซื้อขายถูกผูกติดไว้กับงานใหญ่ร้านใหญ่ ทำให้ร้านหนังสือเล็ก ๆ ตามชุมชนต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะเดียวกันเมื่อนักอ่านมีกำลังซื้อน้อยลง สำนักพิมพ์ย่อมสั่งผลิตในจำนวนน้อยตาม ต้นทุนการผลิตต่อเล่มจึงสูงขึ้น อันนำมาสู่ราคาที่แพงขึ้น และเมื่อหนังสือมีราคาแพงใครเล่าจะซื้อได้? วงการหนังสือไทยจึงต้องเผชิญกับปัญหางูกินหางที่ไม่มีวันรู้จบเช่นนี้

อินโฟกราฟิก-ความสัมพันธ์และช่องทางการขายหนังสือ-สำนักพิมพ์

วงการหนังสือจะคงอยู่ได้เช่นไร หากรัฐไม่รู้จักหนังสือ

เมื่ออยากส่งเสริมให้คนรักการอ่าน รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายสนับสนุนวงการหนังสือ หลายประเทศจึงมีการออกมาตรการทางกฎหมาย มาตรการเชิงโครงสร้าง และมาตรการเศรษฐกิจ อาทิ ไต้หวัน ที่นอกจากจะมีพระราชบัญญัติห้องสมุด (Library Act) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ห้องสมุดสาธารณะเป็นคลังข้อมูลเพื่อการศึกษา การพัฒนาวัฒนธรรม การวิจัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว ในส่วนของการสร้างมาตราฐานเชิงโครงสร้าง กระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวันได้มีการจัดตั้งกรมมนุษยศาสตร์และสิ่งพิมพ์ (The Department of Humanities and Publications) เพื่อดูแลอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ ทั้งยังส่งเสริมวงการหนังสือในมิติเศรษฐกิจผ่านโครงการ Books from Taiwan ของ Taiwan Creative Content Agency หรือ TAICCA ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม สำหรับตัวโครงการนั้นจะสนับสนุนด้านการเงินให้กับสำนักพิมพ์ในแต่ละประเทศสำหรับการแปลหนังสือไต้หวัน 

เช่นเดียวกับ The Book Department of Villa Albertine สถาบันด้านศิลปะและแนวคิดของฝรั่งเศสในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งโดยกระทรวงยุโรปและการต่างประเทศ (Ministry for Europe and Foreign Affairs) เพื่อสนับสนุนทางการเงินให้กับการแปลหนังสือภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ ในขณะเดียวกันรัฐบาลฝรั่งเศสได้สนับสนุนวงการหนังสือในประเทศผ่านศูนย์หนังสือแห่งชาติ (Centre National du Livre) ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนเงินกว่า 3,600 ล้านบาทในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับนักเขียน สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ห้องสมุด และนักอ่าน เพื่อให้วงการหนังสือของฝรั่งเศสยังคงก้าวต่อไปได้

อ่านหนังสือ-ศูนย์หนังสือแห่งชาติฝรั่งเศส-10marsjelis-แคมเปญ
บรรยากาศการอ่านหนังสือของเยาวชนจากแคมเปญ #10marsjelis ของศูนย์หนังสือแห่งชาติฝรั่งเศส
ซึ่งเชิญชวนให้ประชาชนอ่านหนังสือพร้อมกันในวันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น.
ที่มา: CNL – Centre national du livre

ในขณะที่วงการหนังสือไทย แม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากหลาย ๆ ประเทศเพื่อเป็นทุนในการพิมพ์ การแปล หรือเป็นค่าลิขสิทธิ์ อันเป็นการส่งเสริมให้ผลงานที่มีคุณค่าจากประเทศของพวกเขาเหล่านั้นได้วางอยู่บนชั้นหนังสือในประเทศไทย กระนั้นรัฐบาลไทยกลับไม่มีองค์กรหรือนโยบายที่เหลียวแลอุตสาหกรรมนี้โดยตรงแม้แต่น้อย 

ทั้งในฐานะบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อและชายผู้รักการอ่าน มกุฏ อรฤดี เล่าถึงความพยายามในการผลักดันองค์กรอิสระที่จัดตั้งโดยภาครัฐอย่าง “สถาบันหนังสือแห่งชาติ”

“เราพบว่าวิธีลดราคาหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วิธีขายของสำนักพิมพ์ที่ขายก่อนแล้วค่อยลดราคา หรือการพรีออเดอร์ทั้งหลายที่ทำให้คนอ่านได้ซื้อหนังสือในราคาถูก นั้นทำให้ร้านหนังสืออยู่ไม่ได้” เขาเล่า เพราะไม่มีใครอยากซื้อหนังสือเล่มเดียวกันในราคาแพงกว่า แต่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถบังคับสำนักพิมพ์หรือการจัดงานหนังสือได้ เพราะนั่นเป็นหนึ่งในวิธีการหารายได้ของเหล่าสำนักพิมพ์ ฉะนั้นจึงต้องมีกลไกในการจัดการระบบหนังสือขึ้น มกุฏ อรฤดี จึงเสนอรัฐบาลตั้งแต่ 20 ปีก่อนให้จัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติขึ้น เพื่อดูแลวงการหนังโดยเฉพาะ เขาเสริมต่อว่า ถ้ามีกฎหมายคล้ายกับประเทศฝรั่งเศสที่ห้ามลดราคาหนังสือออกใหม่จะช่วยให้ระบบหนังสือเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อทุกคนขายหนังสือในราคาที่เท่ากัน ร้านหนังสือเล็ก ๆ มากมายก็จะอยู่ได้

ปัญหางูกินหางไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยลำพังสำนักพิมพ์ ผู้อ่าน หรือสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แต่ต้องอาศัยบทบาทของภาครัฐที่ควรหันมาสนใจเสียงของคนทำหนังสือ เพราะอุตสาหกรรมหนังสือนั้นเปรียบเสมือนเบ้าหลอมสังคม สร้างสังคมที่อุดมไปด้วยปัญญา มกุฏกล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐที่มองว่าคนฉลาดควบคุมได้ยาก คือรัฐที่ไม่ฉลาด” 

มณฑล ประภากรเกียรติ พูดถึงอนาคตของวงการหนังสือในฐานะนักอ่านและคนทำหนังสือว่า “ผมเชื่อมั่นมาโดยตลอดและอีกสิบปีก็จะเชื่อแบบนั้นว่าหนังสือจะไม่มีวันตาย ตราบใดที่มนุษย์ยังมีการเรียนรู้ หนังสือก็จะยังคงอยู่กับเรา เพียงแต่ว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน ธุรกิจหนังสือจะเป็นอย่างไรก็คงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและความจริงจังของรัฐบาล” 

อ้างอิง

  1. Laws & Regulations Database of The Republic of China (Taiwan). (2558). Library Act. เข้าถึงได้จาก https://law.moj.gov.tw/ENG/LawClass/LawAll.aspx?pcode=H0010008
  2. Villa Albertine. (ม.ป.ป). Publishing & Translation Programs. เข้าถึงได้จาก https://villa-albertine.org/professionals/publishing-grants-and-programs
  3. SIMON KEMP. (2563). DIGITAL 2020: THAILAND. เข้าถึงได้จาก https://datareportal.com/reports/digital-2020-thailand
  4. สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ. (2565). ข้อมูลสถิติงานหนังสือปี 2565. เข้าถึงได้จาก https://pubat.or.th/statistics2565/
  5. กฤตพล สุธีภัทรกุล. (2565). “วงการหนังสือไทย” ยังโตได้อีกไหม มีอะไรที่ต้องแก้ พูดคุยกับ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายก PUBAT. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1030328
  6. ING PUBAT. (2564). ที่สุดสิ่งพิมพ์ 2021. เข้าถึงได้จาก https://pubat.or.th/best-printing-of-2021/