Gender News Social Issue Top Stories

ทำความเข้าใจ ‘กลุ่มลับ’ : การรวมตัวของ ‘ชายแท้’ กับการล่วงละเมิดสิทธิทางเพศทางออนไลน์

“การมีกลุ่มแบบนี้เป็นเรื่องปกติของผู้ชาย” มักเป็นคำตอบจากคนที่อ้างว่าตนเข้าใจธรรมชาติของความเป็นชายเป็นอย่างดี... นิสิตนักศึกษาชวนทำความเข้าใจกลุ่มลับ สำรวจความรู้สึกของผู้เสียหาย ผู้ชาย และไขคำตอบผ่านมุมมองทางจิตวิทยา

เรื่อง : จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ

Trigger Warning : บทความนี้มีเนื้อหาที่กล่าวถึงการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse)
หมายเหตุ : บทความนี้มีการใช้นามสมมติเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของแหล่งข่าว

กลุ่มลับ 18+’ (น.) ชื่อเล่นของกลุ่มออนไลน์ ของผู้ชายที่รักในการแบ่งปันเนื้อหาทางเพศ เช่น ภาพแอบถ่ายผู้หญิง ภาพผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่ คลิปวิดีโอมีเพศสัมพันธ์ หรืออื่น ๆ สุดแล้วแต่จินตนาการ

จากข่าวต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราจะได้เห็นเรื่องราวของ ‘กลุ่มลับ’ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งกรณีคลิปหลุดของนักร้องสาว หรือแม้กระทั่งข่าวฉาวจากสังคมรอบๆ ตัว ว่ามีการตั้งกลุ่มลับในหมู่ผู้ชาย ทั้งในรั้วโรงเรียน มหาวิทยาลัย และในที่ทำงาน

“การมีกลุ่มแบบนี้เป็นเรื่องปกติของผู้ชาย” มักเป็นคำตอบจากทั้งผู้ชาย และคนเพศอื่น ๆ ที่อ้างว่าตนเข้าใจธรรมชาติของความเป็นชายเป็นอย่างดี จึงเห็นว่าการมีกลุ่มแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะหากไม่ยี่หระกับทรวดทรงที่เย้ายวนของผู้หญิง เขาคนนั้นก็คงไม่ใช่ ‘ชายแท้’ เป็นแน่ นอกจากนั้น พวกเขายังระบุว่าการมีกลุ่มเช่นนี้ไม่เห็นเดือดร้อนใครตรงไหน เพราะเป็นการคุยในที่ปิด ไม่เปิดเผยสู่สาธารณะ และแน่นอนว่าจะไม่บอกให้กับบุคคลในรูปและคลิปวิดีโอรับรู้ว่าได้นำเจ้าตัวมาใช้ตอบสนองความใคร่ทางเพศ

อย่างไรก็ดี อีกด้านของสังคมออนไลน์เห็นว่าการมีกลุ่มลับเพื่อส่งต่อรูปและคลิปวิดีโอโดยที่บุคคลในเนื้อหารับรู้หรือไม่ก็ตามโดยไม่ขออนุญาตก่อน ถือเป็นการละเมิดความยินยอม (consent) และปฏิบัติต่อคนคนนั้นเป็นเพียงวัตถุทางเพศ (sex object) ที่สามารถนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ โดยระบุว่าหากจะเรียกว่าให้เกียรติ ก็ควรให้เกียรติกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

พลอย (นามสมมติ) ผู้หญิงวัย 22 ปี เล่าให้นิสิตนักศึกษาฟังถึงประสบการณ์ที่เคยโดนพูดถึงในกลุ่มแชทของเพื่อนสมัยมัธยมศึกษา โดยกลุ่มผู้ชายจะมีการพูดคุยและจัดอันดับกันว่า ผู้หญิงคนไหนในรุ่น ‘น่า…’ ที่สุด โดยอาจเป็นได้ตั้งแต่น่ารัก หน้าตาดี หรือแม้กระทั่งน่ามีเพศสัมพันธ์ด้วย

“มีคนมาเล่าให้ฟังว่าเราติดอันดับ ซึ่งเรารู้สึกตกใจ ไม่เข้าใจ และขยะแขยง” พลอยกล่าว โดยเสริมว่าเธอไม่ได้รู้สึกดีที่ถูกจัดอันดับดังกล่าว แต่ในกลุ่มเพื่อนผู้หญิงเองก็มีทั้งคนที่รู้สึกเหมือนกับเธอ และคนที่มองว่าเป็นพฤติกรรมปกติของผู้ชาย และไม่ได้แยแสอะไร

โดยหลังจากนั้น มีเพื่อนผู้ชายที่หวังดีเตือนให้เธอระวังตัว เนื่องจากมีคนคอยแอบส่องหน้าอกของเพื่อนผู้หญิงในรุ่นอยู่ ส่งผลกระทบให้พลอย ‘รู้สึกไม่ปลอดภัยกับผู้ชาย’ และรู้สึกไม่มั่นใจในการแต่งตัวเพราะกลัวจะมีคนคอยสังเกตสัดส่วนของตนเอง ทั้งที่เธอเองยังเชื่อว่าการเลือกใส่เสื้อผ้าใดก็ได้โดยต้องไม่มีใครมาคุกคามเป็นสิทธิเหนือร่างกายของเธอ แต่ก็ยังอดที่จะกังวลไม่ได้

ผ่านมาหลายปีนับจากวันที่พลอยเจอประสบการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ จนในปัจจุบันที่มีเนื้อหาทางเพศ (sex content) ที่เข้าถึงได้ง่ายดายมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์แม้จะไม่ถูกกฎหมาย จึงน่าตั้งคำถามว่า เหตุใดในยุคที่เนื้อหาทางเพศมีอยู่ทั่วไป แต่การมีอยู่ ‘กลุ่มลับ’ ยังไม่มีทีท่าที่จะลดลง

“เขาอาจจะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เลยอยากรวมตัวกับคนที่เหมือนเขา พอเข้ามาในกลุ่มแล้วสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิดมันถูก ตามธรรมชาติของมนุษย์ ถ้ามีคนมารับรองให้ว่าสิ่งที่เราพูดมันยอมรับได้ ก็จะบ่มเพาะว่าเราสามารถอยู่กับคนกลุ่มนี้ได้”

โมจิ​ (นามสมมติ) ผู้ชายวัย 23 ปี ให้ความเห็นถึงเหตุผลที่ว่าทำไมปัจจุบันยังมีกลุ่มลับจำนวนมาก

โมจิ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนระดับมัธยมปลายชื่อดัง นิยามตนเองว่าเป็นผู้ชายและมีรสนิยมชอบเพศตรงข้าม โมจิเล่าถึงการได้สัมผัสกับการมีอยู่ของกลุ่มลับ ซึ่งเริ่มต้นจากการมีเพื่อนผู้ชายส่งคลิปหลุดของเพื่อนผู้หญิงในโรงเรียนเข้ามาในกลุ่มแชท “ตอนนั้นเราไม่รู้จะทำยังไง เพราะยังไม่ได้เรียนรู้อะไรมาก แต่พอเริ่มได้ศึกษาและรู้เรื่องต่างๆ ที่ผู้ชายทำต่อผู้หญิง มองย้อนกลับไปเรารู้สึกว่ามันเป็นการกระทำที่แย่มาก” โมจิกล่าว

หลังจากครั้งนั้น ในการรวมกลุ่มของกลุ่มเพื่อนผู้ชายในแต่ละครั้ง เช่น การไปทานข้าวร่วมกัน หรือเพียงนั่งคุยกัน โมจิเล่าว่าในทุกครั้งจะต้องมีหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องเพศขึ้นมาในวงสนทนาเสมอ โดยมีหัวข้อยอดฮิตเป็นการวิจารณ์ถึงรูปร่างหน้าตาของผู้หญิงในคณะที่ศึกษาอยู่ และพูดถึงเนื้อหาทางเพศทั้งคลิป และภาพยนตร์ต่างๆ

พฤติกรรมการมีอยู่ของกลุ่มลับ สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางจิตวิทยาเช่นกัน ศุภกร ปิญะภาณุกัญจณ์  นักจิตวิทยาการปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เรื่องความต้องการทางเพศเป็นเรื่องที่มีในมนุษย์ทุกคน แต่ด้วยบริบทสังคมที่กดสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ในสังคม แต่มนุษย์ก็ต้องการพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องพวกนี้ จึงอาจเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของ ‘กลุ่มลับ’ แม้จะมีเนื้อหาทางเพศที่เข้าถึงง่ายทางออนไลน์อยู่แล้วก็ตาม

ศุภกรระบุว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ เช่น อยากโอ้อวด อยากแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน เพราะทำแล้วอาจได้รับการยอมรับ มีคนชื่นชมว่าเก่ง ซึ่งอาจทำให้ตัวตนของเขาได้รับการเติมเต็ม อาจเป็นรสนิยมที่ชอบความตื่นเต้น และอาจมีการทำเพื่อการแก้แค้นคนที่อยู่ในสื่อนั้น โดยเผยแพร่ออกมาเพื่อให้เกิดความเสียหาย และทำให้คนคนนั้นอับอาย นอกจากนั้นยังอาจมีปัจจัยภายนอก อย่างเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยว เพราะอาจแชร์แล้วได้ค่าตอบแทนจากคนในกลุ่ม

ในบางคนนั้น วัยเด็กอาจเคยมีบาดแผลทางจิตใจ หรือประสบพบเจอความรุนแรงเรื่องเพศ ทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม เสพติดพฤติกรรมทางเพศ จึงเลือกทำพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่ทำให้ตนรู้สึกมีอำนาจและได้เติมเต็มตัวตนของตัวเองมากขึ้น อย่างการแอบถ่าย ที่ทำให้รู้สึกมีอำนาจว่าตนสามารถทำได้

พฤติกรรมการแอบถ่ายหรือส่งต่อสื่อในกลุ่มลับเช่นนี้ แน่นอนว่าจะทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหายจากความอับอายที่มีคนเห็นและวิจารณ์ร่างกายส่วนที่เจ้าตัวไม่ต้องการให้ใครเห็น

“แม้จะบอกว่าไม่ต้องคิดมาก แต่มนุษย์เราไม่ได้เป็นสัตว์ที่อยู่คนเดียวบนโลก เราต้องการการยอมรับ แต่กลายเป็นว่าผู้เสียหายจะรู้สึกว่าไม่มีที่ไหนปลอดภัยสำหรับเขา”

ศุภกร ปิญะภาณุกัญจณ์

ในด้านผู้กระทำ หากมีพฤติกรรมการส่งต่อหรืออยู่ในกลุ่มลับไปเรื่อยๆ วันหนึ่งอาจกลายเป็นคนที่ลงมือถ่ายเอง แชร์ต่อเอง เนื่องจากได้รับการตอบรับในทางบวกว่าเป็นพฤติกรรมที่สามารถทำได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่โดนเป็นวงกว้าง และถึงที่สุด อาจจะไปลงมือกระทำสิ่งที่รุนแรงขึ้น อย่างการข่มขืน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อทั้งผู้ถูกกระทำและต่อสังคม

ศุภกรเสริมว่าการได้รับการปลูกฝังเรื่องต่างๆ ของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อน อย่างในช่วงวัยเด็ก สิ่งที่ถูกปลูกฝัง การเลี้ยงดู และประสบการณ์ที่ได้รับ จะมีผลถึงเซลล์ประสาทในสมองที่จะฝังเรื่องราวความทรงจำในช่วงนั้นไว้ แม้สมองจะรับรู้ว่าเป็น ‘สิ่งที่ไม่ดี’ แต่สมองก็จะจดจำว่าเป็น ‘สิ่งที่ทำได้’ เช่นกัน 

อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ คือผู้กระทำรู้ว่าทำแล้วต้องรอด คือไม่มีใครจับได้ หรือหากโดนจับได้ก็ไม่เกิดผลกระทบอะไรตามมา ศุภกรจึงเห็นว่าหากกฎหมายมีความเข้มงวดมากขึ้น ก็อาจทำให้พฤติกรรมนี้หยุดลง หรือป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมนี้ขึ้นตั้งแต่แรกได้

พศวัสส์ ชมเรณู เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือ มูลนิธิพิทักษ์สตรี ระบุว่า ปัญหาที่มักเจอในกลุ่มลับ คือมีการค้ามนุษย์เกิดขึ้น โดยแอดมินเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างผู้ที่ค้าบริการ ซึ่งมักจะเป็นเด็กและผู้หญิงที่ถูกนำมาค้ามนุษย์ กับผู้ที่ต้องการซื้อบริการ 

มูลนิธิพิทักษ์สตรีจะดำเนินการต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากทีม Protection ที่สืบหาข้อมูลกลุ่มที่อาจมีการค้ามนุษย์ รวมถึงรับเรื่องจากที่มีผู้แจ้งเข้ามา และเข้าช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยจะมีขั้นตอนการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้เสียหายโดยทีม Empowering ที่จะช่วยฟื้นฟู และส่งเสริมให้มีชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจได้ต่อในอนาคต

พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุถึงการ ‘แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ’ ซึ่งหมายถึง การแสวงหาประโยชนจากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น โดยใน พ.ร.บ. นี้ ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ที่มีความผิดฐานค้ามนุษย์ กล่าวคือ มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เด็ก (บุคคลผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี)

“ทุกคนได้โลกมีโอกาสโดนค้ามนุษย์ได้หมด” พศวัสส์กล่าว แม้ว่า พ.ร.บ. เรื่องการค้ามนุษย์ จะมุ่งไปยังการคุ้มครองเด็ก แต่ผู้ใหญ่ คนทั่วไปที่ถูกค้ามนุษย์ ก็สามารถเข้าแจ้งความหรือแสดงตัวว่าเป็นผู้เสียหายได้เช่นกัน ซึ่งหากมูลนิธิพิทักษ์สตรีพบกรณีการค้ามนุษย์ ก็จะเร่งดำเนินคดีทันที

อย่างไรก็ดี พศวัสส์ระบุว่า การจะดำเนินการทางกฎหมายจะต้องมีหลักฐานแน่นอน จึงอาจต้องมีหลักฐานจากกลุ่มที่มีการโอนเงินเกิดขึ้น เพื่อสืบสาวไปถึงตัวการได้ แต่ถ้าหากเป็นเพียงการส่งต่อรูปและไม่สามารถระบุตัวตนผู้กระทำได้ ก็อาจดำเนินการอะไรต่อได้ค่อนข้างยาก

หากต้องการให้กลุ่มลับนั้นลดจำนวนลง หรือหมดไปในที่สุด พศวัสส์เสนอว่าควรมีพื้นที่สำหรับการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่อุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ถูกกฎหมาย ก็ทำให้สังคมไม่ต้องหลบซ่อนในเรื่องเพศ และการมีช่องทางที่เหมาะสมนี้ ก็ลดการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กได้ 

ในด้านของผู้เสียหาย พลอย เห็นด้วยว่าควรมีกฎหมายที่เอาจริงจังในการจัดการกลุ่มลับ เพื่อไม่ให้กลุ่มลับถูกมองเป็นเรื่องปกติ “มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เราไม่ควรถูกเอาไปพูดถึงทางเพศโดยไม่ยินยอม นอกจากนั้นมันเป็นการชักนำความคิดด้วย ถ้าหากมีการรวมกลุ่มกันและเห็นด้วยในการกระทำนั้น ก็จะทำให้เกิดความกล้าที่นำไปสู่การกระทำที่รุนแรงมากๆ ขึ้นได้” พลอยกล่าว

โมจิเห็นด้วยในทิศทางเดียวกัน “เราคิดว่ากลุ่มลับไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนสื่อเพื่อสนองความใคร่ทางเพศ แต่การมีกลุ่มลับเป็นสถานที่ที่เอาไว้บ่มเพาะแนวคิดที่มันอันตรายต่อคนอื่น” พร้อมเสริมว่าการที่ผู้หญิงแต่งตัวหรือปฏิบัติตัวแบบใด ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลให้ผู้ชายสามารถไปตัดสินได้ และไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กระทำสิ่งที่รุนแรงต่อผู้หญิงคนนั้นได้ เพราะทุกคนมีสิทธิเหนือร่างกายของตนเอง และมีสิทธิที่ควรจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย

สำหรับประชาชนทั่วไป หากพบการมีอยู่ของกลุ่มเหล่านี้ที่มีการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศโดยมิชอบ หรืออาจพบเจอบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่างๆ สามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้ที่มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยทางมูลนิธิฯ จะดำเนินการนำรูปของผู้เสียหายออกจากเว็บไซต์เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อไป รวมถึงผู้เสียหายจากกลุ่มลับ ที่ต้องการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียงชื่อเสียง สามารถดำเนินการได้เอง โดยปรึกษาขั้นตอนได้ที่ มูลนิธิพิทักษ์สตรี

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551. (2551, กุมภาพันธ์ 6). ราชกิจจานุเบกษา, 125 (29ก),28-32.
  2. พลอย (นามสมมติ). ผู้หญิงที่เคยเป็นผู้เสียหายจากกลุ่มลับ. สัมภาษณ์ 17 พฤศจิกายน 2566.
  3. พศวัสส์ ชมเรณู. เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือ มูลนิธิพิทักษ์สตรี. สัมภาษณ์ 17 พฤศจิกายน 2566.
  4. โมจิ (นามสมมติ). ผู้ชายที่ไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของกลุ่มลับ. สัมภาษณ์ 23 ตุลาคม 2566.
  5. ศุภกร ปิญะภาณุกัญจณ์. นักจิตวิทยาการปรึกษา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สัมภาษณ์ 23 กันยายน 2566.