Art & Culture Interview Social Issue Top Stories

ความเป็นไทย คือความเป็นพุทธ (?) : ‘รัฐโลกวิสัย’ คำตอบของโลกสมัยใหม่ ที่คุณค่าของคนไม่ควรถูกผูกไว้กับศาสนา

"งมงาย" "ไม่น่าศรัทธา" คำอธิบายหลายปรากฏการณ์ความเชื่อในไทย สะท้อนการจัดลำดับชั้นของศาสนาในไทย ที่มีพุทธศาสนาสูงส่งที่สุดเสมอ นำมาซึ่งโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทย ว่าภาวะที่ความเชื่ออื่นถูกเบียดบังพื้นที่โดยพุทธศาสนาเช่นนี้ จะกระทบต่อคุณค่าของความหลากหลายทางความเชื่อหรือไม่

เรื่อง : จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ
ภาพ : จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ

“งมงาย” คือคำอธิบายต่อหลายปรากฏการณ์ความเชื่อในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อนอกกระแสที่เป็นกระแสและปรากฏให้เห็นตามหน้าข่าว อย่างในช่วงที่ผ่านมา ที่เกิดปรากฏการณ์ลัทธิครูกายแก้ว นางพญาผมขาว ที่นอกจากจะถูกตีตราว่างมงาย ยังมีการล้อเลียนถึงรูปลักษณ์ของความเชื่อนี้ ที่ดู “ไม่น่าศรัทธา” เท่าไรนัก

นอกจากนั้น ความเกลียดชังที่มีต่อบางศาสนา อย่างศาสนาอิสลาม ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการแปะป้ายต่อคนในศาสนานั้นๆ ว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ทั้งที่พวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไปที่แค่มีความเชื่อไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ในสังคม

อย่างไรก็ดี  ผู้ที่นับถือ ‘พุทธศาสนา’ ยังมีสิทธิพิเศษในการรอดพ้นจากข้อครหาต่างๆ ได้เสมอ แม้จะมีการตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่ถึงการตีความพุทธศาสนาในปัจจุบันอยู่บ้าง แต่ผู้ที่นับถือก็ไม่ต้องรับมือกับความเกลียดชังเช่นเดียวกันกับที่ศาสนาและความเชื่ออื่นๆ ต้องเผชิญ และศาสนาพุทธเองยังไม่ถูกจัดลำดับชั้นให้ ‘ต่ำกว่า’ ศาสนาอื่นๆ เนื่องด้วยภาพที่โยงกับสถาบันหลักของชาติ และยังได้รับการยอมรับในคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สถานการณ์นี้ จึงนำมาซึ่งโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทย ว่าภาวะที่ความเชื่ออื่นถูกเบียดบังพื้นที่โดยพุทธศาสนาเช่นนี้ จะกระทบต่อคุณค่าของความหลากหลายทางความเชื่อหรือไม่ รัฐไทยควรทำอย่างไรเพื่อรับประกันสิทธิเสรีภาพของทุกศาสนา หรือแม้แต่พุทธศาสนาเองจะต้องเผชิญวิกฤตอะไรหากยังไม่ปรับตัว

นิสิตนักศึกษา ชวน รศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา ผู้เขียนหนังสือ เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนา คริสต์ – พุทธ และสังคมโลกวิสัย และ วิจักขณ์​ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา ศูนย์การเรียนรู้บนพื้นฐานของการภาวนา ที่ส่งเสริมคุณค่าทางศาสนธรรมแบบโลกวิสัย มาร่วมแลกเปลี่ยนว่าความเป็นไทยคือความเป็นพุทธจริงหรือไม่ และเสนอทางออกให้กับประเด็นศาสนาในไทย

‘พระพุทธศาสนาไทย’ เหตุใดจีงสูงส่งกว่าความเชื่ออื่น 

“ประวัติศาสตร์ของรัฐไทย เป็นขบวนการสร้างรัฐพุทธศาสนา” สุรพศกล่าว โดยอธิบายว่าประวัติศาสตร์ได้สร้างความทรงจำให้เราเห็นว่ากษัตริย์นั้นผูกโยงกับพระพุทธศาสนาอยู่ในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องเล่าพ่อขุนรามคำแหงประทับนั่งบนพระแท่นมนังคศิลาอาสน์และทรงสอนธรรมะแก่ข้าราชการ จนถึงยุคต่อๆ มาที่กษัตริย์ไทยล้วนออกบวช

จนในสมัยรัตนโกสินทร์ ร.4 ทรงผนวชอยู่นานถึง 27 พรรษา และตั้งนิกายใหม่ ‘ธรรมยุติกนิกาย’ และกลายเป็นนิกายที่ใช้กันในราชสำนัก เรื่อยมาถึงสมัย ร.5 ที่จัดตั้งมหาเถรสมาคม​ (มหาเถรสมาคม; องค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทย) โดยสุรพศระบุว่า เป็นเสมือนการตั้งศาสนจักร ซึ่งเป็นการรวมอำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรให้ขึ้นกับกษัตริย์

และในที่สุดในสมัย ร.6 ที่ได้ริเริ่มอุดมการณ์สถาบันหลักของชาติที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน อย่าง ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์’ การนำพุทธศาสนาเข้าไปรวมเป็นหนึ่งในสถาบันเช่นนี้ จึงทำให้เกิดระบบแบบพุทธราชาชาตินิยมขึ้น และทำให้พุทธกลายเป็นศาสนาที่ถูกยกให้โดดเด่น หรือมีความสำคัญมากที่สุด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา
มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

“ศาสนาพุทธ คือศาสนาที่เป็นทางการ” วิจักขณ์กล่าว โดยขยายความว่าเพราะในรัฐธรรมนูญมีการระบุถึงศาสนาพุทธ โดยระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นอัครศาสนูปถัมภก อันหมายถึง ต้องเป็นผู้ทำนุบำรุงศาสนา โดยพุทธศาสนายังมีความเชื่อมโยงกับราชสำนักอย่างการเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี และผูกโยงกับความเชื่อต่างๆ เช่น เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ จึงเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ศาสนาพุทธถูกเชื่อมโยงอยู่กับสถาบันกษัตริย์มาเป็นระยะเวลานาน

สุรพศสรุปว่า แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้ระบุว่าไทยเป็นรัฐพุทธศาสนาโดยตรง แต่ในมาตราต่างๆ และวิธีการปฏิบัติจริงกลับมีการให้สถานะพิเศษกับพุทธศาสนา เพราะก็ไม่ได้มีการระบุว่าไทยเป็นรัฐโลกวิสัย (รัฐโลกวิสัย หรือ secular state; การแยกศาสนาออกจากรัฐ รัฐมีความเป็นกลางทางศาสนา) ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น ประเทศอินเดีย จะมีการระบุชัดเจนในรัฐธรรมนูญไว้เลยว่าเป็นรัฐโลกวิสัย

“แนวคิดเรื่องแยกศาสนาออกจากรัฐ มันไม่มีมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475) ก็เลยคาราคาซังมาถึงทุกวันนี้” สุรพศกล่าว

‘พุทธสุดโต่ง’ กับภาวะความหลากหลายทางความเชื่อในไทย

“ถ้ามองโดยกรอบของรัฐโลกวิสัย พุทธในไทยมันสุดโต่ง” สุรพศกล่าว เนื่องจากไทยไม่ได้มีความเสมอภาคในเรื่องศาสนาอย่างแท้จริง หรืออาจเรียกได้ว่าไทยอยู่ในภาวะ ‘พุทธศาสนาที่เป็นทางการ’ ตามคำนิยามของวิจักขณ์ เนื่องจากศาสนาอื่นๆ หรือกระทั่งพุทธศาสนาในนิกายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐเองก็ยังมีลำดับขั้นที่ได้รับการยอมรับน้อยกว่า 

ดังเช่นกรณีของ ภิกษุณี ซึ่งก็ไม่ได้รับการยอมรับของมหาเถรสมาคม ดังนั้น สิทธิต่างๆ ที่พระได้รับ เช่น สิทธิการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ และไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในงบประมาณที่จัดสรรจากภาษีประชาชน ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท โดยพุทธศาสนาที่ไม่ใช่นิกายเถรวาทอันได้รับการยอมรับโดยรัฐ จะไม่ได้รับแม้แต่บาทเดียว “พระทุกรูป จะต้องขึ้นตรงกับคณะสงฆ์ หากไม่ขึ้นตรงกับคณะสงฆ์ คุณก็จะเป็นพระเถื่อน” วิจักขณ์กล่าว

วิจักขณ์เปรียบเทียบถึงพระที่ทำวัตถุมงคล ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ตนเห็นว่าพฤติการณ์นี้ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากมหาเถรสมาคมเช่นกัน  แต่ตราบใดที่พระภิกษุเหล่านี้ไม่ได้กระด้างกระเดื่องที่จะถีบตัวเองออกมาจากโครงสร้างอำนาจนี้ ก็จะไม่มีการจัดการจากมหาเถรสมาคม และยังสามารถอยู่ร่วมกันได้

สุรพศชี้ประเด็นว่า เสรีภาพทางศาสนาในโลกสมัยใหม่ ต้องสัมพันธ์กับสิทธิเสรีภาพทางมโนธรรม (freedom of conscience; เสรีภาพที่เป็นสิทธิเด็ดขาด ไม่มีบุคคลใดหรือรัฐจะมาล่วงรู้ได้) รวมถึงการเปิดโอกาสให้คนใช้อิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy; อิสรภาพในการตัดสินดี ชั่ว ถูก ผิด ด้วยวิจารณญาณของตนเอง) โดยยังเชื่อมโยงกับเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) เพราะมีความเชื่อแบบใด ก็ควรมีเสรีภาพในการสื่อสารออกมาได้

อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎของมหาเถรสมาคม ยังสื่อสารเรื่องพุทธราชาชาตินิยมว่า พระทั่วประเทศมีหน้าที่สอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมีประกาศมีคําสั่งออกมาว่าห้ามจัดอภิปราย จัดเสวนา หรือแสดงความเห็นสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของประชาชน 

ยกตัวอย่างคนที่ออกมาสู้อย่างเณรโฟล์ค ที่โดนคดีมาตรา 112 จนถูกบังคับให้สึก ดังนั้น แม้คนจะเข้าใจว่าพระมีเสรีภาพสามารถเลือกบวชได้ แต่สุรพศเห็นว่าในความเป็นจริงมันไม่มี เพราะสิทธินี้ยังถูกครอบด้วยกรอบของพุทธที่เป็นทางการเท่านั้น 

พระภิกษุร่วมชุมนุม ตั้งคำถามในประเด็น ‘พุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง’
ภาพจาก Matichon Online

“ประชาธิปไตย โดยหลักการคือเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางความเชื่อ ดังนั้นการที่เราจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นศาสนาหลักของประเทศ แล้วส่งผลต่อนโยบาย ส่งผลต่อการศึกษา ส่งผลต่อวิธีคิดของคนในชาติ จึงไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย”

วิจักขณ์ พาณิช

วิจักขณ์เสนอถึงแนวคิดโลกวิสัย (secularism) โดยมิได้หมายความว่ารัฐจะต้องบังคับให้พลเมืองไม่นับถือศาสนา หรือรัฐจะต้องไม่สนับสนุนศาสนาเลย แต่เป็นแนวคิดที่มีได้หลากหลายรูปแบบ โดยวิจักขณ์เห็นว่ารูปแบบที่เหมาะสมกับไทยจะเป็นลักษณะที่คล้ายกับอินเดีย คือรัฐเลือกว่าจะสนับสนุนทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน หรือหากจะไม่สนับสนุน ก็จะไม่สนับสนุนทุกศาสนา ทุกศาสนาปกครองตนเองได้อย่างอิสระ ทำให้ในอินเดียไม่มีองค์กรคณะสงฆ์ เนื่องจากรัฐไม่เข้ามาแทรกแซง ซึ่งแนวคิดเช่นนี้จะทำให้เกิดความหลากหลายและเกิดเสรีภาพทางศาสนาอย่างแท้จริง

‘ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ และการเมือง’ ผลกระทบจากการไม่มีพื้นที่ให้ความเชื่ออื่นนอกจากพุทธศาสนา

สุรพศระบุว่า การไม่โอบรับความเชื่ออื่นๆ ดังที่เป็นอยู่ในไทยเช่นนี้ จะทำให้ไม่มีความเสมอภาคทางศาสนา โดยพุทธแบบรัฐถูกบังคับยัดเยียดให้ปลูกฝังในโรงเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมปลาย หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยที่มีการสอนเกี่ยวกับปรัชญา ก็ยังสอนว่าพุทธปรัชญาดีกว่าปรัชญาตะวันตก

ลักษณะเช่นนี้ ทำให้เกิดอคติทางศาสนา เชื่อว่าศาสนาพุทธดีกว่าศาสนาอื่น ซึ่งถูกปลูกฝังกล่อมเกลาจนกลายเป็นทัศนคติของผู้คนในสังคมที่ทําให้มองศาสนาอื่นด้อยกว่า มองว่าศาสนาแห่งเหตุผลแห่งปัญญาคือพุทธ ความเชื่ออื่นๆ เป็นความงมงาย ความเชื่อเรื่องพระเจ้าก็งมงาย ความเชื่อเรื่องครูกายแก้ว เรื่องไสยศาสตร์ต่างๆ ยิ่งงมงาย

วิจักขณ์เห็นตรงกันว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดความรุนแรงทางตรงที่มีต่อคนนับถือศาสนาอื่นๆ ทั้งจากการแปะป้ายสร้างความเกลียดชัง และการล้อเลียน โดยปรากฏการณ์เช่นนี้ที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ทั้งการเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) การปฏิเสธรับผู้ลี้ภัยอย่างกรณีโรฮิงยา และอุยกูร์ ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทย ทั้งการคลั่งศาสนา ยึดถือศาสนาหลัก และมองศาสนาอื่นด้อยกว่าหรือมองเป็นศัตรู ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผูกโยงกับแนวคิดแบบชาตินิยม

ความรุนแรงลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คุณค่าทางประชาธิปไตยที่ควรได้รับการสอน สนับสนุน และเรียนในห้องเรียน กลับไม่ถูกส่งต่อ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณค่าความเท่าเทียม ความหลากหลาย ถูกกลบด้วยวิชาพระพุทธศาสนาที่เน้นการท่องจำและต้องเป็นไปตามที่รัฐต้องการเท่านั้น

วิจักขณ์เชื่อว่าหากศาสนาพุทธยังเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นใหญ่อยู่ จะมีกลุ่มคนที่สุดโต่งอยู่จริง โดยมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามให้ศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ลบหลู่ดูหมิ่นไม่ได้ ทั้งจากพระ ฆราวาส หรือคนในองค์กรเกี่ยวกับศาสนาที่มีอำนาจก็พยายามจะผลักดันให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มี พ.ร.บ. ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก

นอกจากนั้น ยังกระทบกับการเมืองรัฐสภาโดยตรง โดยสุรพศระบุถึงอคติที่มีต่อนักการเมืองอันเกิดจากการถูกเปรียบเทียบกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกยกย่องเป็นพระโพธิสัตว์ และยังมีโครงการพระราชกรณียกิจที่ขึ้นชื่อว่าทำเพื่อราษฎรหลายพันโครงการ

 “นักการเมืองที่มีแต่เลว โกง ยังไงก็เทียบกับกษัตริย์ไม่ได้ เรียกว่าเป็นการเอาศีลธรรมพุทธมาตัดสินการเมือง” สุรพศกล่าวเสริมโดยเปรียบเทียบกับผู้นำที่แม้จะมาจากการรัฐประหาร แต่กลับถูกมองว่าเป็นคนดี เพราะมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ หรือกล่าวอ้างว่าตนจะใช้หลักธรรมปกครอง

บทบาทของสถาบัน ต่อภาวะพุทธสุดโต่ง

วิจักขณ์และสุรพศเห็นว่า แนวคิดที่รุนแรงนั้นมีแนวโน้มเกิดมาจากสถาบันที่มีอำนาจในทางการเมือง ทั้งสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันกษัตริย์

วิจักขณ์เน้นถึง สถาบันศาสนาเอง ที่เมื่ออยู่ในโครงสร้างความรุนแรง แต่กลับไม่แสดงแสงสว่างในเชิงเตือนสติหรือให้ความหวังว่ามันมีทางแก้หรือทางออก มโนธรรมสำนึก ทำให้ศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยิ่งสนับสนุนโครงสร้างความรุนแรงได้เช่นเดียวกัน

ทั้งยังมีองค์กรต่างๆ ที่พยายามจะยึดโยงแนวคิดในลักษณะนี้ เช่น เมื่อมีคนทำคุกกี้พระเครื่อง ก็จะบอกว่าไม่เหมาะสม หรือเวลามีภาพยนตร์ที่มีตัวละครเป็นพระ จะมีองค์กรศาสนามาเซนเซอร์บอกว่าแบบนี้ทำไม่ได้ ซึ่งสะท้อนว่าเป็นการจัดการโดยมองพระพุทธศาสนาเป็นกติกาของทางการที่บังคับใช้กับพลเมือง โดยไม่มีการเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย

ทิศทางเช่นนี้ยังส่งผลต่อสถาบันครอบครัว ที่ยังมีแนวคิดบางอย่างที่สอดคล้องกับความรุนแรง แม้จะดีขึ้นเพราะะคนรุ่นใหม่ตื่นตัวในการเรียกร้องเรื่องนี้มากขึ้น แต่เรายังไม่สามารถหลุดจากโครงสร้างความรุนแรงของสถาบันหลักได้

สุรพศเห็นว่า สถาบันกษัตริย์ มีเรื่องราวการเชื่อมโยงของกษัตริย์กับพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงช่วง ร.4 ที่เริ่มเกิดวาทกรรม ‘พุทธแท้-พุทธเทียม’ พุทธแท้คือธรรมยุติกนิกาย ส่วนพุทธเทียมคือพุทธที่เชื่อตามครูบาอาจารย์มา ไม่ได้เคร่งครัดเป็นพุทธแท้เหมือนที่เราเห็นจากพวกวัดหลวง

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เรื่อยมาจนถึงช่วง ร.5 ที่มีการจัดตั้งศาสนจักร จนถึง ร.6 มีเทศนาเสือป่า และจากการที่ได้ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จึงเปรียบเทียบว่าประเทศตะวันตกก็มีคริสต์เป็นศาสนาประจําชาติของเขา ไทยก็มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจําชาติของเรา จนกล่าวว่า “ความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ ศาสนาพุทธคือศาสนาของชาติไทย” ที่มีการเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาประจําชาติในรัฐธรรมนูญ ก็จะอ้างเทศนาเสือป่าของ ร.6 อ้างเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นอัครนูปถัมภกและเป็นพุทธมามกะมาเชื่อมโยง

ภาวะนี้ยังสะท้อนผ่าน พระ นักปราชญ์ ที่เวลาพูดเรื่องพุทธศาสนากับชาติไทยก็จะบอกว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยคือประวัติศาสตร์พุทธศาสนา จึงเล่าถึงว่ากษัตริย์เป็นพุทธอย่างไร  แต่งคัมภีร์อย่างไร ซึ่งสถาบันการศึกษาก็จะเล่าประวัติศาสตร์แบบนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญก็ระบุว่าจะต้องทำนุบำรุงพุทธศาสนา จึงเป็นข้ออ้างว่าต้องบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน

การบังคับเรียนศาสนาเริ่มตั้งแต่เราเริ่มมีการศึกษาสมัยใหม่ คือเริ่มมีโรงเรียน ตั้งแต่สมัย ร.5 จนถึงคณะราษฎรที่ให้เรียนหลักคําสอนพุทธศาสนาเป็นหลัก ยิ่งในปัจจุบันยิ่งเน้นมากขึ้น เพราะมีความอ่อนไหวเรื่องกลัวการเข้ามาของศาสนาอิสลาม เรื่องปัญหาภาคใต้ โดยรัฐไทยมีความรู้สึกไม่มั่นคง จึงพยายามปลูกฝังให้เด็กมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นการกล่อมเกลาศีลธรรมผ่านวิชาพระพุทธศาสนา

ใครควรทำอะไร หากต้องการให้ไทยเป็นพื้นที่ที่โอบรับทุกความเชื่อ ทุกศาสนา

รัฐโลกวิสัย เป็นส่วนสำคัญของการทำให้ประเทศไทยไปต่อได้ แต่ถ้าเรายังไม่สามารถมีบทสนทนาเรื่องประชาธิปไตยหรือการยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิการแสดงออกได้ วิจักขณ์เห็นว่าก็ยากที่จะพูดถึงเรื่องรัฐโลกวิสัย เพราะเรื่องนี้มีหลายองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา ทั้งการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเอาศาสนาออกจากรัฐ ทำไมต้องเอาความเชื่อสูงสุดออกจากกัน ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานของการเปลี่ยนจากสังคม ‘ยุคกลาง’ ไปสู่สังคมที่พัฒนาแล้ว

“ถ้ามีความเชื่อชุดเดียวครอบทุกคน เราจะเติบโตทางความคิดได้อย่างไร”

วิจักขณ์ พาณิช

อย่างในศตวรรษที่ 15 ศาสนาเป็นเหตุผลในการฆ่ากัน ก่อสงคราม เป็นยุคมืดที่วิทยาการ ความรู้ เหตุผล มันไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เพราะศาสนาเป็นใหญ่ ประเทศไทยเองก็ติดอยู่ตรงนั้นเพราะมีศาสนาครอบอยู่ และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ครอบอยู่อีกชั้น การพยายามจะแยกมันออกจากกัน ไม่ได้หมายความว่าจะล้มล้างอะไร แต่พยายามจะแกะออกเพื่อให้จิตสำนึก ความคิดของผู้คน และวิทยาการต่างๆ จะได้เติบโตต่อไปได้

สุรพศเสนอว่าการเปลี่ยนผ่านของสังคมให้กลายเป็นโลกวิสัย (secularization) มีสองแบบ คือ การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) และการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization)

การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) หมายถึงปรากฏการณ์ทางสังคมวิทยา ที่ผู้คนสนใจความคิดที่หลากหลาย เช่น คนรุ่นใหม่อาจไม่นิยามว่าตัวเองนับถือศาสนาอะไร แต่อาจศึกษาปรัชญาของทุกศาสนา แล้วมาปรับใช้กับชีวิตตัวเอง หรือหากระบุว่าเป็นพุทธ เป็นคริสต์ หรืออื่นๆ ก็อาจจะดึงปรัชญาจากหลากหลายศาสนามาปรับใช้ด้วยเช่นกัน

และอีกแบบคือการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง (political secularization)  หมายถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ อาจเป็นลักษณะเหมือนสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ที่บัญญัติชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่ารัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย ให้หลักการเสรีภาพทางศาสนา และรัฐเป็นกลางทางศาสนา ไม่ส่งเสริมศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือปล่อยให้องค์กรศาสนาทั้งหมดเป็นเอกชนทั้งหมด

สุรพศเห็นว่ากระบวนการนี้อาจมีความยากพอๆ กับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรืออาจยากมากกว่าเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา จะมีทั้งพระและชาวพุทธออกมาต่อต้าน เนื่องจากหากแยกศาสนาจากรัฐ แปลว่าสถานะการเป็นวัดพระอารามหลวง ยศ ตำแหน่ง เงินเดือนและผลประโยชน์ จะถูกยกเลิกไปทั้งหมด

สิ่งที่ทําได้คือในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรยกเลิกมาตราที่ว่ารัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์พุทธศาสนา และ ให้เหลือเพียงมาตราที่รับรองเสรีภาพทางศาสนาไว้ รวมถึงแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การห้ามนักบวชเลือกตั้ง เพราะถ้าหากพระมีสิทธิเลือกตั้งแล้วนั้น พระก็จะไปเชื่อมโยงกับการเมืองแบบโลกวิสัยมากขึ้น และค่อยๆ เปลี่ยนความคิดมาทางโลกวิสัย และเข้าใจในความเป็นประชาธิปไตย จากเดิมที่มีศาสนจักรแห่งรัฐมาคุม ไม่มีอิสรภาพในการตีความคําสอนในการแข่งขันเผยแพร่ตามแนวทางของตัวเอง เพราะหากเผยแพร่ตามแนวทางที่ขัดจากรัฐก็จะโดนเพ่งเล็ง

นอกจากนั้น ยังควรเปลี่ยนการบังคับเรียนวิชาพุทธศาสนา ให้เรียนเป็นปรัชญา คือเรียนปรัชญาตะวันตก และของศาสนาอื่นๆ รวมถึงปรัชญาของความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อโบราณ โดยเรียนในลักษณะของการตั้งคําถาม นำหลักศาสนา หลักความเชื่อต่างๆ มาส่งเสริมความเป็นมนุษย์ของเรา ส่งเสริมเสรีภาพ ส่งเสริมสิทธิ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ หรือสรุปได้ว่าเราต้องเอาความเป็นมนุษย์เป็นตัวตั้ง แล้วจึงดูว่าหลักความเชื่อต่างๆ จะมาสนับสนุนได้อย่างไร

ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ นักปรัชญาชาวแคนาดา เสนอว่า ความคิดทั้งหลายในโลกนี้มันเหลื่อมซ้อนกันอยู่ “หลักของศาสนาต่างๆ มันจะมีมิติที่มันเข้ามาเชื่อมโยงกันได้ มากกว่าส่วนที่มันขัดกัน แต่ประวัติศาสตร์ของโลกไปเน้นส่วนที่มันขัดแย้งกันมันเลยเกิดปัญหา” สุรพศกล่าว

สุรพศยกตัวอย่างถึงประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ว่ามีด้านที่ทับซ้อนกัน อย่างแนวคิดประชาธิปไตย สิทธิ ความเป็นคนเท่ากัน แต่เรากลับไปเน้นความต่าง แข่งกันดูว่าแบบใดเป็นประชาธิปไตยแท้หรือเทียม ทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งที่แตะต้องไม่ได้เช่นเดียวกับเรื่องศาสนา

ถอดบทเรียนจากประเทศพุทธสุดโต่ง และประเทศรัฐโลกวิสัย

สุรพศยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุดมการณ์ที่ว่า One nation under God โดย พระเจ้า (God) ในที่นี้ ถูกตีความใหม่ในคําประกาศอิสรภาพของอเมริกา จากแนวคิดเดิมในยุคกลางที่มองว่าพระเจ้ามอบอํานาจเทวสิทธิ์ให้กษัตริย์ปกครองประชาชน  แต่จอห์น ล็อก นักปรัชญาชาวอังกฤษเสนอมุมมองที่กลับกัน โดยระบุว่าพระเจ้ามอบสิทธิตามธรรมชาติให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลาย และมอบหมายให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีหน้าที่ปกป้องรักษาสิทธิตามธรรมชาติ และพระเจ้าก็ไม่มายุ่งกับเรา ไม่ไปยุ่งกับการเมืองการปกครอง เราทุกคนจึงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

จากนั้นเราจึงมอบความยินยอม (consent) ให้ตัวแทนของเราไปเป็นรัฐบาล มีอํานาจตามวาระ เราก็ตรวจสอบรัฐบาล ถ้ารัฐบาลทําผิดสัญญา หันปากกระบอกปืนมาหาเรา เราก็มีความชอบธรรมที่จะล้มล้างรัฐบาลนั้น เพื่อเลือกตั้งรัฐบาลตัวแทนของเราขึ้น พระเจ้าจึงไม่มีอํานาจอะไรเลย มีแต่เราซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีอํานาจ ภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย ศาสนาก็เป็นเอกชนทั้งหมด โดยไม่มีการตีความศาสนาสนับสนุนเผด็จการ

หากเป็นในภูมิภาคเอเชีย มีญี่ปุ่นที่เป็นรัฐโลกวิสัย ซึ่งเปลี่ยนไปหลังสหรัฐอเมริกาเข้ามาวางระบบการปกครองใหม่ ทําให้จักรพรรดิต้องประกาศออกมาว่าจักรพรรดิคือมนุษย์ ไม่ใช่เทพตามความเชื่อดั้งเดิม กษัตริย์ไม่มีกฎหมายคุ้มครองอย่างมาตรา 112 ในไทย แต่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาททเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยผู้ที่จะฟ้องคนที่หมิ่นกษัตริย์ได้คือนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ใครก็ตามไปแจ้งความได้ แล้วจักรพรรดิก็ไม่ยุ่งการเมืองจริงๆ ศาสนาพุทธจึงมีความหลากหลาย พระเลี้ยงตัวเองได้ เล่นดนตรีได้ แต่งงานมีครอบครัวได้ แต่ก็ยังมีการสอนเรื่องสมาธิ สอนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชีวิต

วิจักขณ์เห็นว่าไทยควรดูตัวอย่างอินเดีย เพราะเราถูกสอนมาตลอดว่าศาสนาพุทธมีรากกำเนิดในอินเดีย แต่เราไม่ค่อยได้เรียนรู้ว่าอินเดียเขาดูแลเรื่องศาสนาของเขายังไง ทำไมศาสนาที่หลากหลายถึงอยู่ด้วยกันได้ และไม่ถึงจุดที่จะเข่นฆ่ากัน

อินเดียเป็นสถานที่ที่มีพลวัตเรื่องความหลากหลายทางศาสนา หลังจากประกาศเอกราชจากอังกฤษ ดร. อัมเบดการ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย เลือกที่จะร่างรัฐธรรมนูญโดยระบุความเป็นรัฐโลกวิสัยในรัฐธรรมนูญเลย ตั้งแต่ปี 1980 เขียนชัดเจนว่าความเป็นประชาธิปไตยของอินเดียจะต้องตั้งอยู่บนความเป็นรัฐโลกวิสัย และเคารพทุกศาสนาเท่ากัน 

ส่วนในประเทศพุทธอย่างไทย ศรีลังกา พม่า ยังมีสิ่งที่เหมือนกันคือการให้ความสําคัญกับศาสนาพุทธในโครงสร้างอํานาจรัฐอยู่ จึงควรเรียนรู้จากความผิดพลาดหรือปัญหาที่ประสบร่วมกัน

‘หลักเสรีภาพ’ คำตอบสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการสนับสนุนความหลากหลายทางความเชื่อ

วิจักขณ์เห็นว่าศาสนาในตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่คนมองว่าล้าหลัง ด้วยเห็นว่าศาสนาทำให้คนไม่มีอิสรภาพ แต่ตนยังเห็นว่าศาสนามีสิ่งที่นำมาปรับใช้ได้ แต่ต้องมีเสรีภาพในการตีความคำสอน มีชุดความรู้ที่หลากหลาย เพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องจิตใจ มนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่วิจักขณ์และวัชรสิทธาพยายามทำ

สุรพศเล่าถึงตัวอย่างประเทศสวีเดน ซึ่งเพิ่งเป็นรัฐโลกวิสัยมาประมาณ 20 กว่าปี อันเนื่องมาจากคนไม่เข้าโบสถ์ คนหันหลังให้โบสถ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศาสนาอยู่ในตัวของผู้คน ใครอยากอ่านไบเบิ้ลก็เอามาอ่านเองหรือตั้งกลุ่มกันเอง เรียนรู้กันเอง ไม่ต้องไปสนใจในสิ่งที่รัฐจัดหาให้

ในระยะหลัง คนรุ่นใหม่ก็หันหลังให้พุทธไทยเช่นกัน คนเข้าวัดน้อยลง เพราะวัดไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ จากกระแสที่ต่อต้านว่าพระหัวเราะก็ไม่ได้ พระร้องไห้ไม่ได้ พระปรากฏตัวในภาพยนตร์ก็โดนเซนเซอร์

พระสงฆ์ ณ บริเวณใกล้เคียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

คนรุ่นใหม่จะหาความหมายของชีวิตในแบบอื่นๆ แยกชัดเจนว่าอะไรคือเรื่องสาธารณะหรือเรื่องส่วนตัว หากเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคนรุ่นใหม่ก็ไม่ต้องการให้ใครมายุ่ง รวมถึงในเรื่องศาสนา ที่ไม่ต้องการให้รัฐมาแทรกแซง บังคับ แต่ต้องการให้รัฐเคารพสิทธิ หากศาสนาปรับตัวตามไม่ทัน ในที่สุดก็ค่อยๆ ตายไป และมีทางเลือกใหม่เกิดขึ้นมา

ทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ลิทธิครูกายแก้ว มาจากการที่ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอน ทั้งจากเรื่องรายได้ ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐมันไม่มีคําตอบทางวิทยาศาสตร์ให้ ไม่มีการแก้ปัญหาด้วยระบบสวัสดิการ ไม่มีคำตอบให้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจในวันต่อไปจะเป็นอย่างไร คนจึงต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

“ความเชื่อกระแสต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดจากหลายปัจจัย เราไม่สามารถติดสินได้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งงมงาย เพราะมันก็มีเหตุผลของคนที่เชื่ออยู่ในนั้น”

สุรพศ ทวีศักดิ์

คนรุ่นใหม่หันไปนับถือคริสต์ ปรากฏการณ์สะท้อนความเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา

สุรพศเห็นว่าการที่คนรุ่นใหม่หันไปนับถือศาสนาคริสต์ อาจเป็นเพราะศาสนาคริสต์ไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างนักบวชกับฆราวาส แต่ในศาสนาพุทธมีความห่างเหิน มีการแบ่งชั้นสูงต่ำ และเข้าถึงได้ยาก ยิ่งหากเป็นผู้หญิงแล้วต้องการคุยกับพระ ระยะห่างก็ยิ่งมากขึ้น แต่ศาสนาคริสต์มีความหลากหลาย ซึ่งเริ่มมาจากการยืนยัน สิทธิเสรีภาพทางมโนธรรม (freedom of conscience) ว่าปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพที่จะตีความคําสอนด้วยตัวเอง โดยทุกคนเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า นักบวชไม่ได้อยู่สูงกว่าฆราวาส ไม่มีเพศใดอยู่สูงกว่าเพศใด

วิจักขณ์ชี้ให้เห็นถึงในอดีตที่ศาสนาคริสต์เคยตกอยู่ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้มาก่อน โดยศาสนาคริสต์ผูกโยงกับอำนาจรัฐ และทำให้แนวคิดเรื่องการตัดสินถูกผิดดีชั่ว ลึกไปถึงระดับผิดบาปร้ายแรง แต่องค์กรศาสนาของศาสนาคริสต์มีการปรับตัว เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึกทางสังคมในเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย ดังที่จะเห็นได้ว่ามีพระสันตะปาปาออกมากล่าวว่าตนยอมรับความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นความหวังให้กับผู้คนว่าผู้นำทางศาสนามีปัญญา มีวิสัยทัศน์ และมองโลกสมัยใหม่ว่าเป็นสิ่งที่จะสัมพันธ์ไปด้วยกันกับศาสนาได้

ในขณะที่ศาสนาพุทธยังไม่มีการตีความให้เข้ากับค่านิยมแบบโลกสมัยใหม่ ศาสนาพุทธจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางจิตสำนึกประชาธิปไตย

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ ในโลกยุคใหม่ที่ความหมายของศาสนาเปลี่ยนแปลงไป

วิจักณ์ พาณิช

วิจักขณ์ฝากถึงคนรุ่นใหม่ ว่าหากมีความเปิดกว้าง อาจจะเห็นได้ถึงความคิดใหม่ๆ ของศาสนาพุทธที่ต่างไปจากที่เคยได้รับรู้จากการสอนโดยรัฐ จะเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาของเสรีภาพ ความรัก สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ความหลากหลาย มีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีความเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับเรื่องจิตวิทยา การดูแลตัวเอง หากศึกษาอย่างเปิดกว้าง อาจพบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตได้

สุรพศย้ำถึงความสำคัญของ การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางสังคม (social secularization) “เริ่มจากตัวคุณเองที่จะต้องนิยามศาสนา ว่าสําหรับคุณ ศาสนาคืออะไร แล้วมันมีความหมายกับชีวิตคุณยังไง” สุรพศกล่าว โดยฝากให้นิยามศาสนาบนพื้นฐานของ อิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy) คือไม่อยู่ใต้อิทธิพลของใคร ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ศาสนา ความเชื่อ  ขนบธรรมเนียมประเพณี 

“เลือกด้วยตัวของฉันเอง ให้ความหมายชีวิตด้วยตัวของฉันเอง ด้วยเหตุผลของฉันเอง ด้วยเจตจํานงของฉันเอง” 

แม้แต่การนับถือพุทธ ก็ไม่ต้องขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้า บางอย่างที่เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์เราก็ปฏิเสธไม่เชื่อก็ได้ คริสต์ก็เหมือนกัน ศาสนาอื่นก็เหมือนกัน ปรัชญาอื่นก็เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกอย่าง คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มแบบนี้มากขึ้น ซึ่งจะทําให้เราเป็นอิสรภาพจากศาสนา

สุรพศ ทวีศักดิ์

“เราต้องเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือของเรา ไม่ใช่เอาเราเป็นเครื่องมือของศาสนา”

สุรพศ ทวีศักดิ์

เราต้องไม่มีความเชื่อที่ว่าจะต้อง ‘รับใช้ศาสนา’ เราสามารถชักชวนกันเรียนรู้ในคำสอนของศาสนาต่างๆ ได้ แต่ถ้าหากจะให้ความร่วมมืออะไร ก็ต่อเมื่อมันตอบได้ว่ามันให้อะไรกับเรา ให้อะไรกับสังคม

หากเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ก็อาจร่วมรณรงค์เรื่องให้ยกเลิกบังคับเรียนศาสนา เพราะการให้เรียนศาสนาแบบรัฐเป็นช่วงเวลาที่ใหญ่มาก ตั้งแต่ประถมศึกษา จนจบมัธยมศึกษา หากคิดในแง่มุมของรัฐโลกวิสัย ก็คือมันละเมิด freedom of conscience ละเมิด moral autonomy ของเรา มันแฝงความรุนแรงอยู่ในนั้น แม้เราจะไม่รู้สึกว่ามันรุนแรงก็ตาม

อ้างอิง

  1. วิจักขณ์ พาณิช. ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา. สัมภาษณ์ 21 พฤศจิกายน 2566.
  2. สุรพศ ทวีศักดิ์. นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา. สัมภาษณ์ 22 พฤศจิกายน 2566.