News Social Issue Top Stories

“ความในอย่านำออก” : เมื่อกระบวนการยุติธรรมเข้าไม่ถึงความรุนแรงในครอบครัว

“ชายเป็นใหญ่” ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าบอกว่าถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว “ภาวะพึ่งพิงและการไกล่เกลี่ย” ทำให้คนที่อยู่ในครอบครัวถูกกระทำซ้ำๆ ต้องแก้ที่รากเหง้าความคิด

เรื่อง-ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ และ ธัญวรัตม์ บุตรแสงดี

หมายเหตุ : มีการใช้นามสมมติเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว

คำเตือนเกี่ยวกับเนื้อหา: มีการบรรยายเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว

สถิติเผย เหตุความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มสูงขึ้น สวนทางกับจำนวนการดำเนินคดี ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความเพราะมองเป็นเรื่องในครอบครัว นักวิชาการชี้ “ภาวะพึ่งพิง” และ “การไกล่เกลี่ย” เป็นเหตุให้ถูกทำร้ายซ้ำๆ ด้านกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวย้ำ ต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้าความคิด

“เราปิดไฟเล่นกัน เขามาคร่อมเรา แล้วเอาข้างล่างมาถู ถามว่า ‘ชอบมั้ย’ ซึ่งเรายังเด็ก ยังไม่ขึ้นมัธยมเลย เราก็ไม่รู้เรื่อง ขำคิกคัก” บ๊อบบี้ (นามสมมติ) เล่าประสบการณ์การถูกลูกพี่ลูกน้องชายคุกคามทางเพศในวัยเด็ก โดยเธอเผยว่าไม่ได้บอกเรื่องนี้กับพ่อแม่เพราะไม่คิดว่าพวกเขาจะช่วยอะไรเธอได้ เนื่องจากพ่อก็ใช้ความรุนแรงกับเธอเช่นกัน “เขาเลี้ยงเรามากับการใช้ไม้และการใช้กำลัง เขาคิดว่าสิ่งนี้จะควบคุมเราได้”

แม้ครูที่โรงเรียนรู้ว่าพ่อตีเธอ แต่ก็ยังมองว่าเป็นเรื่องในบ้าน เธอคิดอยู่ทุกวันว่าอยากฆ่าตัวตาย “เราเคยอยากแจ้งความและขอความช่วยเหลือจากตำรวจ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะช่วยอะไรได้ สุดท้ายก็กลับไปอยู่ที่บ้านเหมือนเดิม” บ๊อบบี้ กล่าวต่อว่า “สิ่งเดียวที่อยากได้จากเขามาตลอดคือแค่คำขอโทษ แต่เขาไม่เคยพูดออกมาเลยจนถึงตอนนี้ และเราไม่ต้องการสิ่งนั้นแล้ว ถ้าเขาจะตายไปเราก็เฉยๆ แล้ว”

เช่นเดียวกับ มายด์ (นามสมมติ) ที่ถูกพ่อบุญธรรมล่วงละเมิดทางเพศช่วงประถม ด้วยการใช้มือล้วงเข้าไปในกางเกงของเธอตอนเธอหลับ  “เรารู้สึกไม่สบายตัว เราก็เลยพยายามดิ้น มือเขาหยุดไปสักพัก แล้วก็ทำต่อ”

เมื่อเธอโตขึ้นและมีความกล้าพอที่จะนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาคุยกับแม่อีกครั้ง แม่มักจะบอกกับเธอว่า “ให้อภัยเขาเถอะ เขาไม่ได้ตั้งใจหรอก”

นอกจากการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว มายด์ยังถูกพ่อบุญธรรมตีอย่างไม่สมเหตุสมผล “ตอนนั้นเราเป็นเด็กประถม ตัวนิดเดียว เขาตีเราบ่อยครั้ง จนครั้งล่าสุดที่เราจำได้ เราสู้ เราไม่ยอมแล้ว เราหนีออกจากบ้าน ขนเสื้อผ้า ข้าวของของเราใส่กระเป๋า โดยแม่ยืนมองอยู่นิ่งๆ แล้วถามว่า ‘เอาอะไรอีกมั้ย’ ”

มายด์หนีไปนอนที่บ้านคุณยายกว่าสองอาทิตย์ แต่พ่อบุญธรรมของเธอก็ตามมาร้องไห้ขอโทษ และเธอต้องกลับไปอยู่กับเขา

“เราไม่รู้ว่าผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้อย่างไร มีจังหวะหนึ่งที่เราหยิบมีดมาไว้ในมือ คิดว่าเราจะทำยังไงต่อ จะวิ่งไปแทงเขาดี หรือเราจะฆ่าตัวตายเลยดี เพราะมันไม่รู้จะทำยังไงแล้ว รู้แค่ว่าอยากเอาตัวเองหนีออกมาจากตรงนี้ แต่ถ้าเราฆ่าคนตาย เราก็ผิด แต่ถ้าเราฆ่าตัวเองตาย เราไม่ผิด แล้วเราก็ได้หลุดจากตรงนั้นด้วย” มายด์เล่าถึงสิ่งที่ตัวเองในวัยประถมคิด

แม้จะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2550 หรือกว่า 13 ปีมาแล้ว ทว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก กลับไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดลง

ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก.สค.) รายงานว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2563 (ตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563) มีจำนวน 1,840 เหตุการณ์ โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีการดำเนินคดีเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนเหตุการณ์ทั้งหมด ทั้งยังพบการคุกคามทางเพศในครอบครัวจำนวน 23 ราย 7 รายในนั้นเป็นเยาวชน และมีการดำเนินคดีเพียง 4 รายเท่านั้น  

“นิสิตนักศึกษา” ได้ทำแบบสำรวจออนไลน์ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2563 จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 123 คน พบว่า ร้อยละ 34.7 เคยถูกคุกคามทางเพศไม่ว่าจะทางวาจา หรือการกระทำจากบุคคลในครอบครัว โดยร้อยละ 71.4 เลือกที่จะไม่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คนในครอบครัวฟัง และร้อยละ 64.5 ของคนที่เล่า ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ตัวเลขเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับการดำเนินคดี

ความยากในขั้นตอนดำเนินคดี คือการให้ปากคำโดยผู้เสียหาย

ร.ต.อ.วุฒิพันธ์ จันทะฤทธิ์ รอง สว. กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) ยอมรับว่าคดีที่ตำรวจลำบากใจที่สุดคือคดีครอบครัว “เพราะว่าคนในครอบครัวก็ต้องกลับบ้านไปอยู่ด้วยกัน อย่างสามีภรรยาตีกัน มาแจ้งความวันนี้ วันหลังก็กอดกันมาถอนแจ้งความ”

อย่างไรก็ตาม คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความ (ป.วิอาญา) เมื่อมีการแจ้งดำเนินคดีไปแล้ว บางคดีก็ไม่สามารถยอมความได้ เช่น ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นคนในครอบครัวหรือไม่ก็ตาม ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

ร.ต.อ.วุฒิพันธ์ กล่าวว่า มีหลายครั้งที่คนในครอบครัวมาไกล่เกลี่ยกันที่โรงพักแล้วกลับบ้านไป ดังนั้นขั้นตอนแรกคือผู้เสียหายต้องแจ้งความประสงค์เอาผิดแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จึงจะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งองค์การนอกภาครัฐมีส่วนสำคัญมากในการพาผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาแจ้งความ เพราะส่วนมากเมื่อถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวแล้วผู้เสียหายมักจะไม่กล้ามาที่โรงพักเอง เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

ร.ต.อ.วุฒิพันธ์ จันทะฤทธิ์ รอง สว. กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.)

ในส่วนของตัวเลขการดำเนินคดีที่มีเพียงแค่ 1 ใน 4 ของเหตุการณ์ทั้งหมด ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ร.ต.อ.วุฒิพันธ์มีความเห็นว่า มีสาเหตุจากผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่กล้าบอกใคร

“ยิ่งถ้าเป็นคดีคุกคามทางเพศจะมีความแตกต่างจากคดีทั่วไปมาก ผู้เสียหายจะเล่ารายละเอียดได้ยาก ถ้าผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว”

รอง สว. กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กล่าว

ร.ต.อ.วุฒิพันธ์ เสนอทางออกว่า “อยากให้ตั้งช่องทางบนโลกออนไลน์ขึ้นมา มีคนคอยให้คำแนะนำว่าต้องทำอย่างไร ใครพาไปแจ้งความ จาก 1 ใน 4 มันจะก็สามารถเป็น 4 ใน 4 ได้เลย”

“ชายเป็นใหญ่” ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าบอก ว่าถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว   

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงทางเพศ สังคมมักโยนความผิดให้ผู้หญิง  เพราะได้รับการปลูกฝังมายาคติทางเพศมาตั้งแต่วัยเรียน รวมถึงสื่อมวลชนก็มักตอกย้ำมายาคติดังกล่าว โดยให้คุณค่าความเป็นหญิงในฐานะวัตถุทางเพศเท่านั้น ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่จึงทำให้ผู้หญิงไม่กล้าบอกว่า ตนถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว “ดังนั้นการสร้างพลังให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องนี้ได้โดยไม่รู้สึกโทษตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงสถานะไหนก็ตาม”

นอกจากนี้ เธอคิดว่าจุดอ่อนของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือ กลไกของหน่วยงานรัฐ โดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งรับผิดชอบกรณีนี้ยังคงมีทัศนคติว่าครอบครัวที่สมบูรณ์จะต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก “มันต้องยอมรับว่าครอบครัวมันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องอยู่ด้วยกันไม่ได้ กฏหมายต้องเป็นตัวกลางและไม่ทำให้เกิดการกระทำซ้ำกับผู้หญิง เด็ก หรือว่าคนในครอบครัวอีก ซึ่งนั่นหมายความว่า คนที่ปฏิบัติต้องมีทัศนคติและมีความเข้าใจ ไม่ใช่ให้ไกล่เกลี่ยแล้วกลับไปอยู่ด้วยกัน”

เธอยังระบุด้วยว่า อีกจุดอ่อนหนึ่งของการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือ พนักงานสอบสวนยังคงมองว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว “พนักงานสอบสวนมีประสบการณ์จากกรณีที่เคยเห็นมา ถ้าตำรวจรับแจ้งความ วันรุ่งขึ้นก็มาถอนแจ้งความ แต่เรามองว่าตอนนี้มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองสวัสดิภาพผู้หญิง หรือเป็นตัวกลางที่ปรามผู้ชายไม่ให้ใช้อำนาจหรือใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงอีก”

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ ขัดแย้งกันเอง และแทบไม่ถูกใช้

ฐานา วิบูลย์ภาณุเวช นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ  สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 แต่มาตรา 15 กลับระบุว่า  “ไม่ว่าการพิจารณาคดีการกระทําความรุนแรงในครอบครัวจะได้ดําเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสําคัญ” ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์หลักในการออกกฎหมายที่มุ่งปกป้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง   

“ผู้หญิงต้องมีความคับแค้นใจอย่างที่สุดแล้ว ถึงจะขึ้นโรงพัก แต่สุดท้ายแล้วกฏหมายต้องการให้คำนึงถึงความเป็นครอบครัวและให้ไกล่เกลี่ย มันจึงไม่สอดคล้องกัน”

ฐานา กล่าว

อย่างไรก็ตาม มาตรา 7 ระบุไว้ว่า หากผู้เสียหายมิได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ภายในสามเดือนนับแต่ถูกกระทำ ทั้งที่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสแจ้งได้ ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ แต่จะไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการร้องขอการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย มาตรานี้จึงสามารถช่วยลดปัญหาความรุนแรงได้ในบางกรณี

“เราจะเห็นบ่อยมากที่ผู้หญิงไม่ฟ้องสามี แต่ว่าจะขอคุ้มครองตัวเอง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะไม่ไปถึงตำรวจ ผู้หญิงจะไปที่ศาลเลย เพื่อขอคุ้มครองสวัสดิภาพเขา” ฐานา อธิบาย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ ปี 2550 แทบจะไม่ถูกนำมาใช้ เนื่องจากสตรีส่วนมากมักไม่ต้องการร้องทุกข์ เมื่อไม่มีการร้องทุกข์ กระบวนการยอมความและกลไกการฟื้นฟูจะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ พ.ร.บ.ยังกำหนดให้สอบถามความเห็นของผู้เสียหายก่อนว่าประสงค์จะดำเนินคดีหรือไม่ หากผู้เสียหายไม่ต้องการดำเนินคดี ก็ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายใดๆ กับผู้กระทำได้

‘ภาวะพึ่งพิง’ ทำให้คนที่อยู่ในครอบครัวถูกกระทำซ้ำๆ 

สุมนทิพย์ จิตสว่าง รองศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงทั่วไปหรือความรุนแรงทางเพศ ล้วนไม่ควรเกิดขึ้นในสถาบันครอบครัวทั้งสิ้น “สิ่งที่สำคัญของปัญหาความรุนแรงคือ ‘วัฏจักรของความรุนแรง’ ที่ถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ถ้าสมาชิกของครอบครัวเติบโตมาด้วยการใช้ความรุนแรง ทั้งการตบตีทำร้ายร่างกาย หรือการคุกคามทางเพศเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงขั้นร้ายแรงอย่างการข่มขืน สมาชิกในครอบครัวจะมีการถ่ายทอดวัฏจักรของความรุนแรงต่อไป”

สุมนทิพย์ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ คือโอกาสที่เด็กจะเข้าไปแจ้งความมีน้อย เพราะเด็กยังคงต้องพึ่งพิงพ่อ หรือสมาชิกครอบครัวที่คุกคามเขา จนต้องตกเป็นเหยื่อต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะเล่าให้ใครฟัง ฉะนั้นผู้เป็นแม่จึงควรปกป้องเด็กโดยการแจ้งความ และไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย เพราะจะทำให้เด็กถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สุมนทิพย์ จิตสว่าง อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การไกล่เกลี่ย เหมือนส่งมีดให้อาชญากรกลับมาทำร้ายซ้ำ

สุมนทิพย์ ให้ความเห็นว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยอาจทำให้เกิดกระบวนการผลิตซ้ำความรุนแรง กฏหมายจำเป็นต้องเด็ดขาดเพื่อตัดวัฏจักรความรุนแรง การให้ผู้ถูกกระทำกลับไปอยู่ร่วมกับคนที่ใช้ความรุนแรง เหมือนกับส่งมีดให้กลับมาทำร้ายอีกครั้ง และในวันข้างหน้าอาจมีเหตุการณ์ที่หนักกว่าเดิม

“ต้องดูว่าคนที่เขามีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง อะไรที่หล่อหลอมเขา ถึงจะดูได้ว่าควรจะไกล่เกลี่ยแล้วให้กลับไปอยู่ในครอบครัวไหม เพราะจากประสบการณ์ เจอกรณีที่ไกล่เกลี่ยแล้วให้กลับไปอยู่ด้วยกัน สุดท้ายจบด้วยการฆ่า ผู้หญิงต้องติดคุก” สุมนทิพย์กล่าว

เยียวยาจิตใจ ไม่จำเป็นต้องแนะนำ แต่รับฟังเขาอย่างตั้งใจ

นฤทธิพรรณ ล้อมวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุข (จิตวิทยา) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา  กล่าวว่า การที่เด็กและเยาวชนที่ถูกคุกคามทางเพศเลือกที่จะไม่ขอความช่วยเหลือและเก็บเรื่องที่เกิดขึ้นไว้กับตนเอง จะส่งผลเสียต่อจิตใจอย่างมาก โดยเยาวชนแต่ละคนควรได้รับการเยียวยาที่แตกต่างกัน “บางครั้งการเยียวยาทางจิตใจ ไม่จำเป็นต้องการคำแนะนำก็ได้ แต่เป็นการรับฟังเขาอย่างตั้งใจ และช่วยแก้ปัญหาในที่ที่เราแก้ได้ … ปัจจุบันนี้สถาบันต่างๆ ที่ดูแลเรื่องของสุขภาพจิตก็จะมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ให้คำปรึกษา”

นฤทธิพรรณ ล้อมวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุข (จิตวิทยา) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

นฤทธิพรรณ ย้ำว่า การทำให้จิตใจผู้เสียหายดีขึ้น ต้องไม่ใช่แค่ดีขึ้นหลังจบการเยียวยา แต่ต้องทำให้ดีขึ้นตลอดไป ไม่ควรปล่อยให้พวกเขากลับบ้านไปพบปัญหาเดิมอีก สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เขากลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ได้

สังคมรอบข้างต้องไม่นิ่งเฉย เร่งแก้ปัญหาที่รากเหง้าความคิด

กุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว สังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต้องเริ่มจากสาเหตุหลักคือ รากเหง้าความคิดของคนในสังคม “ความเชื่อ บรรทัดฐานของสังคม วัฒนธรรมของสังคมที่มีต่อเด็ก สตรีและคนชรา สิ่งเหล่านี้กดทับไม่ให้มีอำนาจเหนือผู้ชาย อีกทั้งความรุนแรงในครอบครัวถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับสังคมโดยรวม เด็กและสตรีที่ประสบปัญหาจึงต้องอดทนและเผชิญหน้ากับการถูกทำร้ายตามลำพัง”

กุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว สังกัดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ด้วยกลไกทางกฎหมาย คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งต้องบูรณาการองค์ความรู้ จากบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และรณรงค์กระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงการไม่ใช้ความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ คือ ตัวผู้ถูกกระทำเอง ต้องไม่ยอมรับ และสังคมรอบข้าง ต้องไม่นิ่งเฉย โดยเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้พบเห็นความรุนแรงต้องแจ้งเหตุ ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สร้างช่องทางรับแจ้งเหตุไว้ คือ 1300

กุสุมา ยังย้ำว่า สังคมต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน อย่านิ่งเฉย อย่ายอมรับ และพร้อมช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงควรทำอย่างไร

ช่องทางเพื่อขอรับความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา หรือพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว

  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โทร. 1300
  • กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) โทร. 02-282-389
  • มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร. 0-2513-2889
  • มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี โทร. 1134 หรือ 02-521-9231-2
  • ศูนย์ช่วยเหลือเร่งด่วน 24 ชั่วโมง กรมประชาสงเคราะห์ โทร. 1507, 1578
  • มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-1196
  • บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี โทร. 02-929-2301-10, 02-929-2222, 02-566-2707